วิธีรับมือกับความเหงา ในแต่ละช่วงวัย

4
2181
วิธีรับมือกับความเหงา

ความรู้สึกเหงาสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนในช่วงหนึ่งของชีวิต เป็นเพียงความรู้สึกชั่วคราวที่มาจากสาเหตุมากมาย บางคนรู้สึกเหงาเมื่ออยู่คนเดียว บางคนรู้สึกเหงาในวันที่ฝนตก หากความเหงาไม่ใช่แค่ความโดดเดี่ยว แต่เจือปนไปด้วยความเศร้า หดหู่ อ้างว้าง หรือรู้สึกแปลกแยกจากสังคมร่วมด้วย สัญญาณแบบนี้ไม่ดีแน่นอน ก่อนที่จะสายเกินแก้ มาดูกันว่ามีวิธีที่จะจัดการกับความเหงาได้อย่างไร

ความเหงาส่งผลต่อชีวิตเรา อย่างไร?

หลายคนมีภารกิจหน้าที่ที่ทำให้ต้องห่างไกลจากครอบครัว จากคนที่เรารัก หากย้อนกลับไปซักประมาณ10-20 ปี ระยะทางเป็นหนึ่งในอุปสรรคที่ทำให้การเจอหน้ากันเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก บางคนต้องรอให้ถึงช่วงวันหยุดเทศกาลจึงมีโอกาสได้เดินทางกลับบ้าน การใช้ชีวิตตัวคนเดียวในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคย ทำให้หลายคนเกิดความรู้สึกเหงาขึ้นมา แต่ก็ยังดีที่มีโทรศัพท์ช่วยให้คลายเหงาลงได้บ้าง จนมาถึงยุคดิจิทัลที่บรรดาแอปพลิเคชั่นต่างๆช่วยให้เราสามารถเห็นหน้าคนที่พูดคุยด้วยได้ แม้เทคโนโลยีจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารสะดวกมากขึ้น แต่สังคมที่คนส่วนใหญ่เอาแต่ก้มหน้ามองจอมือถือแทบจะตลอดเวลานั้น โดยเฉพาะการเสพติดโลกโซเชียล ที่ยิ่งเล่น ยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว กลับกลายเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆบั่นทอนความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวและสังคม จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หลายคนจะรู้สึกเหงา เดียวดาย อ้างว้าง แม้อยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย หากปล่อยให้ความรู้สึกเหงาขั้นรุนแรงคุกคามจิตใจโดยที่ไม่ได้รับการแก้ไข อาจนำไปสู่ต้นเหตุของโรคร้ายที่ไม่คาดคิดได้ เช่น โรควิตกกังวล โรคเครียด โรคซึมเศร้า ภาวะเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตอย่างแน่นอน

วิธีรับมือกับความเหงา ในแต่ละช่วงวัย

จากงานวิจัยที่นำโดยดร.ดิลิป เจสต์ (Dilip Jeste) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยา และผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัยของมหาวิทยาลัยแพทย์แคลิฟอร์เนียซานดิเอโก พบว่า ช่วงชีวิตที่คนเรารู้สึกเหงามากที่สุดแบ่งเป็น 3 ช่วงอายุหลักๆ คือ ช่วงอายุ 20 ตอนปลาย ช่วงอายุ 50 กลางๆ และช่วงอายุ 80 ตอนปลาย

ช่วงอายุ 20 ตอนปลาย

กลุ่มคนวัยทำงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ต้องทำงานอย่างหนัก ภายใต้ความคาดหวัง ความกดดันที่สูงทั้งจากตัวเอง คนรอบข้าง หรือแม้แต่สังคม คนในช่วงอายุนี้มักจะนำเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ที่น่าเศร้าคือ หลายคนมักจะรู้สึกว่าตัวเองยังทำได้ไม่ดีพอ หรือยังไม่ประสบความสำเร็จเทียบเท่าคนอื่น ความเครียดที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเพิ่มความรู้สึกแปลกแยกอ้างว้างในใจเข้าไปอีก

  • วางมือถือลงซะ! เพราะโลกโซเชียลต่างจากโลกแห่งความเป็นจริง นอกเสียจากว่าคุณกำลังดูซีรีย์เรื่องโปรด รายการที่ชื่นชอบ หรือมองหาแรงบันดาลใจ
  • หากิจกรรมทำแบบง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องทำตามใคร แค่เลือกที่เหมาะสมกับตัวคุณเอง เช่น ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย อ่านหนังสือ งานฝีมือ ฝึกทำอาหาร หรือกิจกรรมอาสาต่างๆ ไม่แน่ว่าสิ่งที่ทำอาจกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สามารถนำไปต่อยอดหารายได้เสริม หรือสร้างโอกาสใหม่ๆในชีวิตก็ได้
  • หาเวลานัดเจอเพื่อน หรือครอบครัวให้มากขึ้น แน่นอนว่าการพูดคุยผ่านหน้าจอมือถือทำได้ง่ายกว่า แต่การสื่อสารแบบเจอหน้ากันสามารถเพิ่มความสัมพันธ์ได้ดีกว่า

ช่วงอายุ 50 กลางๆ

กลุ่มคนวัยนี้จะเจอกับภาวะที่เรียกว่า วิกฤตวัยกลางคน (Mid-life Crisis) สภาพร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมค่อนข้างมาก เจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น บางคนเผชิญกับปัญหาทางการเงินที่ขาดการวางแผนในช่วงวัยทำงาน ใครที่ไม่เคยดูแลสุขภาพ ใส่ใจอาหาร และออกกำลังกาย อาจจะต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพที่คาดไม่ถึง

  • เปิดใจและยอมรับการอยู่คนเดียว การอยู่คนเดียวใช่ว่าจะต้องรู้สึกเหงาเสมอไป นับเป็นช่วงเวลาที่ดีที่ได้อยู่กับตัวเอง หันมาดูแลตัวเองมากขึ้น และเรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวอย่างมีความสุข
  • อย่าเอาตัวเองไปผูกติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด เลิกคาดหวังกับผู้อื่น และไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เพราะยิ่งจะทำให้รู้สึกเหงานั่นเอง
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างมีคุณภาพ เข้านอนและตื่นให้เป็นเวลาทุกวัน ใช้เวลาผ่อนคลายเล็กน้อยก่อนเข้านอน เพื่อให้สมองได้เตรียมตัวสำหรับการพักผ่อน

ช่วงอายุ 80 ตอนปลาย

ในช่วงวัยนี้หลายท่านเริ่มรู้สึกว่าไม่รู้จะทำอะไรในแต่ละวัน บางท่านปล่อยเวลาอยู่กับหน้าจอทีวีวันละหลายชั่วโมง กลายเป็นว่าไม่ได้ขยับร่างกายเลย นอกจากปัญหาสุขภาพที่ย่ำแย่แล้ว อาจเผชิญกับความเศร้า หดหู่ สิ้นหวัง ความรู้สึกเหงาที่เกิดขึ้นเป็นพิเศษอาจส่งผลต่อสภาวะจิตใจได้

  • หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เพื่อให้ผ่อนคลายและรู้สึกสงบ อาจลองนั่งสมาธิหรือฝึกการหายใจเพื่อฝึกจิตให้นิ่งยิ่งขึ้น
  • เข้าชมรมผู้สูงวัย อายุมากใช่ว่าจะหากิจกรรมสนุกๆทำไม่ได้ ชมรมเป็นแหล่งรวบรวมผู้ที่ชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน ที่นอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้วยังได้เจอเพื่อนสมาชิกวัยเก๋าอีกด้วย
  • เล่นเกมฝึกสมอง ที่ช่วยให้ได้ใช้ไหวพริบ แก้ไขปัญหา  แถมยังช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย

บ่อยครั้งที่เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเหงาได้ สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าความรู้สึกเหงาไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่หากมีความรู้สึกเศร้า วิตกกังวล หรือหมดกำลังใจเป็นเวลานาน ควรขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อหาทางรับมือได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง

https://health.ucsd.edu/news/releases/Pages/2018-12-18-Serious-Loneliness-Spans-Adult-Lifespan-but-there-is-a-Silver-Lining.aspx

วิธีรับมือกับความเหงา
วิธีรับมือกับความเหงา

4 ความคิดเห็น

  1. […]                “ความเหงา” หนึ่งในต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิต ชีวิตคนเมืองทุกวันนี้เผชิญกับความเหงาอยู่ไม่น้อย ต่างคนต่างอยู่ ต่างต้องดิ้นรนเพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น บางคนก้มหน้าก้มตาทำงาน จนแทบไม่มีเวลาใส่ใจคนที่เรารักเป็นเรื่องธรรมดาเมื่ออายุมากขึ้น จำนวนเพื่อนฝูงเริ่มน้อยลง บวกกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้มีผู้สูงอายุจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกเหงาอ้างว้าง หลายคนมีชีวิตที่หดหู่สิ้นหวัง ความโดดเดี่ยว และความเหงากำลังแผ่ขยายในกลุ่มผู้สูงวัย นี่จึงเป็นเหตุผลที่คนเราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวบ้าง การมีคนที่รัก ไม่ได้หมายถึงคู่สามีภรรยาเสมอไป บางคนโสดมีความต้องการที่จะอยู่ตัวคนเดียว แต่ก็รายล้อมไปด้วยเพื่อนแท้ข้างกาย ความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัวเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในวันที่เราต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต การมีคนที่ไว้ใจ คนที่เรารัก และรักเราอยู่เคียงข้าง คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน จะช่วยให้เราผ่านช่วงเวลายากลำบากไปได้ […]

  2. […] และเตรียมใจไว้ล่วงหน้าก็จะสามารถรับมือกับความเหงาได้ไม่ยาก อยู่คนเดียวได้สบาย […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here