4 วิธีเตรียมตัวอย่างไร ให้ดูแลตัวเองได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ

1
626
4 วิธีเตรียมตัวอย่างไร ให้ดูแลตัวเองได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ

อีกไม่นานประชากรโลกกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ (Aged Society) คาดการณ์กันว่าช่วงเวลาต่อจากนี้ไปจนถึง 20 ปี สัดส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรไทยเลยทีเดียว ในขณะที่อัตราการเกิดลดลง ยังไม่นับรวมปัญหารายได้ เศรษฐกิจ สุขภาพ จิตใจ และอื่นๆ จะหวังพึ่งให้ลูกหลานหาเลี้ยงก็อาจเสี่ยงเกินไป ผู้สูงอายุรุ่นใหม่ควรทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างนั้น ไปติดตามกันเลยค่ะ

4 วิธีเตรียมตัวอย่างไร ให้ดูแลตัวเองได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ

1. เตรียมความพร้อมทางกาย

เตรียมตัวเป็นผู้สูงวัย เรื่องสุขภาพต้องมาก่อน เพราะอายุที่มากขึ้น ย่อมมาพร้อมกับความเสื่อมของร่างกาย ลองเปรียบเทียบระหว่างช่วงอายุ 20 กับ 30 สำหรับคนที่ไม่เคยดูแลสุขภาพยังเห็นถึงความแตกต่างทางร่างกายได้ค่อนข้างชัดเจน พอเริ่มย่างเข้าสู่วัยสูงอายุ อาจมีโรคประจำตัวบ้าง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง  พอแตะหลัก 7 เริ่มช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง บางคนอาจมีภาวะเข่าเสื่อมร่วมด้วย การดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ และไม่ว่าจะอยู่ช่วงวัยใดก็สามารถดูแลตัวเองให้ดีได้เช่นกัน ดังนี้

  • ใส่ใจอาหารการกิน เริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้มีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อได้รับสารอาหารครบถ้วน จริงๆแล้วการทานอาหารสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่ยุ่งยาก เริ่มต้นได้ง่ายๆอย่างเช่น ลดปริมาณเกลือและน้ำตาล เลือกทานผักตามฤดูกาล
  • ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัยและสภาพร่างกาย นอกจากช่วยให้สุขภาพดี ปอดและหัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นการเพิ่มภูมิต้านทาน และช่วยให้ผ่อนคลายจากความเครียดอีกด้วย
  • สังเกตตัวเองเป็นประจำ หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ และควรตรวจสุขภาพประจำปี
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
  • ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลให้สะอาด โดยเฉพาะสุขอนามัยของช่องปากที่หลายคนมักไม่ให้ความสำคัญ
  • นอนหลับพักผ่อนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.เตรียมความพร้อมทางใจ

เพื่อรับมือและยอมรับกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและจิตใจ อารมณ์ที่เบิกบานเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีในการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข การยึดติดกับบางสิ่งในอดีต นอกจากทำให้รู้สึกหดหู่ ท้อใจแล้ว นานวันเข้าจะยิ่งฉุดให้อารมณ์ค่อยๆดำดิ่ง จนรู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง อาจกลายเป็นความซึมเศร้าได้ ประสบการณ์ชีวิตและความสำเร็จในอดีตเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจ และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเรียนรู้จากคนที่อายุน้อยกว่า เพราะแต่ละคนมีความสามารถ ความถนัดต่างกัน แต่หากไม่สามารถสลัดความวิตกกังวลกับเรื่องต่างๆออกไปได้ ควรหาวิธีพักผ่อนหย่อนใจเพื่อคลายเหงา ปลดปล่อยความตึงเครียด และมีชีวิตชีวามากขึ้น เช่น เรียนรู้และเพิ่มทักษะในงานอดิเรกใหม่ๆ ปฏิบัติธรรม เดินทางท่องเที่ยว เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าชมรมผู้สูงวัย คลาสเรียนโยคะสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น หรือลองทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยทำดูบ้าง ไม่แน่ว่าอาจได้มุมมองใหม่ๆในการเพิ่มพลังใจสำหรับใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ก็เป็นได้

3.เตรียมความพร้อมทางการเงิน

การวางแผนเก็บเงินเป็นหลักประกันให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งต้องเริ่มทำเดี๋ยวนี้! จะหวังพึ่งภาครัฐฯก็คงยาก จะหวังพึ่งลูกหลานสำหรับบางคนก็ไม่มีให้พึ่ง หรือเลือกที่จะไม่พึ่งพาก็มี นอกจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว ต้องไม่ลืมนึกถึงค่ารักษาพยาบาลที่มักจะสูงขึ้นทุกปี หรือโรคภัยไข้เจ็บบางอย่างที่ต้องรักษาตัวเป็นระยะเวลานาน ในช่วงวัยทำงานที่ยังมีพละกำลังดีอยู่ ต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปเก็บออมสำหรับวางแผนทางการเงินให้พอใช้ไปตลอดบั้นปลายชีวิต อย่าสร้างหนี้สินในเรื่องที่ไม่จำเป็น เพราะหนี้สินจะเป็นตัวขัดขวางการเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ คงไม่ดีแน่ถ้าต้องยังทำงานหาเงินมาใช้หนี้ในขณะที่อายุ 70 แล้ว แม้แต่การให้ยืมเงินที่เก็บออมมาทั้งชีวิต หรือนำเงินไปลงทุนแบบเทหมดหน้าตัก แบบนี้ยิ่งอันตรายไปกันใหญ่

4. เตรียมพร้อมดูแลปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย

การเคลื่อนไหวร่างกายทำได้ลำบากตามอายุที่มากขึ้น สายตาเริ่มพร่ามัว การรับรู้ของกลิ่นและเสียงที่ช้าลง หรือแค่นั่นนานๆก็ปวดเมื่อยไปทั้งตัว ร่างกายที่เสื่อมสภาพไปตามวัยเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถชะลอได้ นอกจากการประกอบกิจวัตรประจำวัน เพื่อเพิ่มความกระฉับกระเฉงแล้ว ต้องไม่ลืมคำนึงถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ การเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัยให้ปลอดภัย จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกขึ้น เช่น

  • ติดไฟในบ้านให้สว่างขึ้น โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอย่าง บันได ประตู
  • หลีกเลี่ยงการพื้นต่างระดับ เพราะอาจสะดุดล้มได้ง่าย
  • ทำราวจับเพื่อช่วยเกาะพยุงตัวตามจุดต่างๆให้เชื่อมถึงกัน เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ทางเดินไปห้องน้ำ   
  • เปลี่ยนอุปกรณ์ให้สอดคล้องกับการใช้งานและสรีระผู้สูงอายุ เช่น เก้าอี้ที่เหมาะสำหรับผู้สูงวัย ห้องน้ำแบบชักโครกที่มีราวจับเพื่อให้ลุกนั่งได้สะดวก

การก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลแต่อย่างใด หากมีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้ามาเป็นอย่างดี  เมื่อถึงตอนนั้นเราเองก็ต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ใช้เวลาในทุกช่วงของชีวิตให้คุ้มค่า อย่ายึดติดกับอดีตรู้จักปล่อยวาง และอยู่กับปัจจุบัน มาเป็นผู้สูงอายุยุคใหม่ไปพร้อมกันค่ะ

ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

4 วิธีเตรียมตัวอย่างไร ให้ดูแลตัวเองได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ
4 วิธีเตรียมตัวอย่างไร ให้ดูแลตัวเองได้เมื่อถึงวัยสูงอายุ

1 ความคิดเห็น

  1. […] เพราะความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆที่เกิดขึ้นกั…จึงทำให้ห้องน้ำเป็นสถานที่ที่มีความอันตรายลำดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุครับ ทั้งจากความลื่นของพื้นเมื่อเปียกน้ำและความคับแคบที่ทำให้การขยับตัวไม่สะดวก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่มักทำจากเซรามิคที่มีโอกาสแตกหักได้ง่ายหรือตามขอบมุมของผลิตภัณฑ์ที่มีความเหลี่ยม ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้เองล้วนแต่สามารถสร้างอันตรายให้เกิดแก่ผู้สูงอายุได้ทั้งสิ้น สำหรับการเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุ บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆมาฝากครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here