8 วิธีลดเครียดในผู้สูงวัยและครอบครัว สู้วิกฤตโควิด-19 อย่างไร ให้ใจเป็นสุข

2
1102
8 วิธีลดเครียดในผู้สูงวัยและครอบครัว

ในวันที่เผชิญกับวิกฤตหรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในชีวิต  เราต่างก็ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยกันทั้งนั้น แต่พวกเราส่วนใหญ่กลับทำใจยอมรับหรือค่อนข้างมีความยากลำบากในการปรับตัว ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก  เช่นเดียวกับวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตแทบทุกด้าน โดยเฉพาะด้านจิตใจ ความกังวล ความเครียดที่ถาโถม แน่นอนว่าคนในครอบครัวต่างก็กำลังเผชิญกับความรู้สึกนี้เช่นกัน  แล้วเราควรดูแลใจคนอื่นๆในครอบครัวอย่างไรให้เข้มแข็ง เพื่อให้มีกำลังใจต่อสู้วิกฤตนี้ไปด้วยกัน

8 วิธีลดเครียดในผู้สูงวัยและครอบครัว

  1. เข้าใจถึงปัจจัยความแตกต่างของสมาชิกในบ้านแต่ละวัย

เพราะแต่ละคนมีวิธีรับมือกับปัญหาที่แตกต่างกัน ยิ่งต่างวัยยิ่งมีความเข้าใจต่างกัน สำหรับบ้านไหนที่มีสมาชิกหลายเจเนอเรชั่นอยู่ร่วมกัน ต้องค่อยๆทำความเข้าใจ เช่น ผู้สูงวัยบางท่านอาจไม่ยอมฟังและดื้อดึง  เพราะยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ถือว่ารู้มากกว่า ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ย่อมมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายและมีความกังวลมากเป็นพิเศษ ส่วนเด็กๆที่อยู่ในวัยเรียน อาจกังวลด้านการเรียน หรือแม้แต่ปัญหาการเงินของผู้ปกครอง เมื่อเราเข้าใจถึงพื้นฐานทางอารมณ์ของแต่ละบุคคล ก็จะช่วยลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

  1. หมั่นสังเกตอารมณ์ และพฤติกรรมของผู้สูงอายุมากเป็นพิเศษ

ตามที่ทราบกันว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19ได้ง่าย ท่านใดที่มีโรคประจำตัว ยิ่งมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น  เลยพาลให้เครียด วิตกกังวลมากเกินไป อาการจากความเครียดที่แสดงให้เห็น เช่น หายใจถี่ หงุดหงิด ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ ผุดลุกผุดนั่ง  แบบแผนการนอนหลับเปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ลูกหลานต้องหมั่นสังเกตอาการเหล่านี้ และคอยดูแลใจผู้สูงวัยไม่ให้วิตกกังวลมากเกินไป 

  1. ใส่ใจรับฟัง  ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

เมื่อได้รับผลกระทบทางจิตใจ การได้รับกำลังใจเป็นสิ่งที่คนเราปรารถนาที่สุด โดยเฉพาะช่วงวิกฤตเช่นนี้ คนในครอบครัวยิ่งต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน  บางครั้งไม่จำเป็นต้องพูดปลอบอะไรมากมาย แค่รับฟังด้วยความเข้าใจ และไม่เพิกเฉยต่อปัญหา ใครที่อยู่ไกลจากครอบครัวสามารรถสื่อสารเพื่อให้กำลังใจกันผ่านโซเชียลมีเดีย สำหรับบ้านไหนที่มีผู้สูงวัย  บางท่านมีปัญหาหลงลืม อาจถูกถามบ่อยๆ ต้องค่อยๆ อธิบาย ตอบคำถาม หรือให้คำแนะนำต่างๆ อย่างใจเย็น 

  1. สร้างสรรค์กิจกรรมดีๆ ในครอบครัว

เลือกกิจกรรมง่ายๆ ที่สามารถทำร่วมกันได้ทุกวัย เช่น ดูทีวี ทำอาหาร ทำสวน  หรือต่างคนต่างทำในสิ่งที่สนใจ กิจกรรมอะไรก็ตาม ถ้าไม่ได้เป็นการแพร่เชื้อหรือเสี่ยงต่อการรับเชื้อ ทำแล้วมีความสุขก็ทำเลย นอกจากช่วยให้ลืมความกังวลไปชั่วขณะแล้ว ยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวในแน่นแฟ้นขึ้นอีกด้วย วัยทำงานท่านใดที่ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้าน หรือดูแลคนที่เรารัก ควรฉกฉวยโอกาสจากช่วงเวลานี้ให้มากที่สุด 

  1. สร้างบรรยากาศผ่อนคลายในบ้าน

การสร้างบรรยากาศในที่นี้ไม่ได้หมายถึง การปรับแต่งภูมิทัศน์ภายในบ้านให้ดูน่าอยู่มากขึ้นเท่านั้น  แต่ยังหมายถึง การสื่อสารเชิงบวกที่ช่วยสร้างบรรยากาศให้ทุกคนในบ้านลดความวิตกกังวล คลายความเครียดลงอย่างเช่น การพูดคุยเชิงสร้างสรรค์ พูดให้กำลังใจกัน สร้างอารมณ์ขัน ให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว

  1. ลดการเสพโซเชียลมีเดีย

นับตั้งแต่มีข่าวการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลายคนกลับใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการติดตามข่าวสารมากเกินไป  หมกหมุ่นจนเกิดความเครียด ตอกย้ำให้ใจจมไปกับความรู้สึกเศร้าหมองซ้ำๆ ทางที่ดีควรเช็คข่าวสารเท่าที่จำเป็นจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ วางมือถือลงบ้างก็ได้ ลองหาเวลาวันละนิด จดจ่อกับวินาทีที่เป็นปัจจุบัน  เพื่อให้โอกาสตัวเองได้ทบทวนความคิด และดูแลจิตใจบ้าง     

  1. ใช้ชีวิตประจำวันให้ปกติ

แน่นอนว่าเราต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ สิ่งที่ต้องประคับประคองคือ การใช้ชีวิตให้ปกติ กินให้ปกติ นอนให้ปกติ  พูดคุยกันเหมือนอย่างที่ทำในทุกๆวัน เพื่อรักษากิจวัตรประจำวันในครอบครัวให้คงที่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มักจะกลัวความเปลี่ยนแปลง บางท่านอาจตื่นตระหนกจนไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น ก็ต้องสื่อสารให้ชัดเจน อธิบายให้เข้าใจ 

  1. หยุดทั้งความคิดลบและบวก

เป็นธรรมดาที่บางช่วงจะมีความคิดแล่นเข้ามาในหัว ทั้งความคิดลบ ความคิดบวกปะปนกันไป  เราควรอยู่บนพื้นฐานความจริง แค่เลือกที่จะมองในแง่บวก แค่รับรู้ว่าเป็นแค่ความรู้สึกที่เข้ามา ไม่ต้องไปคิดหาเหตุผลต่างๆ มาสนับสนุนความคิดนั้นๆ และไม่ต้องพยายามปรับทุกความคิดให้เป็นบวก นอกจากจะเป็นการฝืนธรรมชาติแล้ว ยังสร้างความปวดหัว ยุ่งยาก ต้องคอยระแวดระวังแม้แต่ความคิดของตัวเอง  ถ้ากำลังคิดถึงเรื่องแย่ๆ ขอแค่หยุดคิดก็พอ ปล่อยให้สมองได้พักบ้าง จะได้มีพลังในการคิดรับมือกับสถานการณ์อื่นๆได้ใหม่

หากมองในอีกมุม ความเครียดอาจเป็นกลไกกระตุ้นให้มนุษย์มีการปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือการตั้งสติ ซึ่งเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยให้เรารับมือกับปัญหาที่กำลังเผชิญ เพราะปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่ยากจะคาดเดา และไม่สามารถควบคุมได้ สิ่งเดียวที่เราสามารถจัดการได้มีเพียงความคิดเราเท่านั้น บางครั้งเราไม่จำเป็นต้องพยายามหาทางแก้ไขปัญหา เพราะบางเรื่องมันใหญ่เกินไปสำหรับเรา คงต้องอาศัยเวลาสักระยะ รอจนกว่าปัญหานั้นจะเล็กลง เพื่อที่เราสามารถจัดการได้ด้วยตนเอง  

ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

8 วิธีลดเครียดในผู้สูงวัยและครอบครัว
8 วิธีลดเครียดในผู้สูงวัยและครอบครัว

2 ความคิดเห็น

  1. […] ในระยะของความอ่อนแอนี้ “กำลังใจ” คือสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดครับ เพราะจากปัญหาที่ถาโถมเข้ามาอย่างแทบไม่ทันได้ตั้งตัว พวกเขาย่อมจะรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า ไม่มีความหมาย และกล่าวโทษตัวเองในทุกเรื่อง สิ่งที่คนรอบข้างทำได้คือการให้กำลังใจ รับฟังปัญหาของเขาอย่างเข้าอกเข้าใจและทำให้พวกเขารู้สึกว่ายังมีคนรอบข้างที่พร้อมจะเคียงข้างและให้การสนับสนุนเขาอยู่เสมอ ให้เขาได้รู้สึกว่าพวกเขาไม่ได้อยู่เพียงตัวคนเดียวในโลกใบนี้ครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here