เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายย่อมเกิดความเสื่อมถอย เริ่มตั้งแต่อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อหรือข้อต่ออย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บางคนอาจจะรู้สึกว่าตัวเองไม่กระฉับกระเฉงแข็งแรงเช่นแต่ก่อน หูตาเริ่มฟ้าฟาง อาการเหล่านี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นซึ่งแสดงอาการให้สังเกตเห็นได้ชัดเจนครับ ความเสื่อมถอยนี้ไม่ได้มีเฉพาะอาการภายนอกที่แสดงออกให้เห็นเท่านั้นแต่ยังมีความเสื่อมถอยที่เราไม่เคยรู้ตัวมาก่อนเกิดขึ้นในร่างกายของเรา หากไม่มีการตรวจร่างกายทางการแพทย์ก็แทบจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าภายในร่างกายของเราก็มีความเสื่อมเกิดขึ้นเช่นกันครับ “ภาวะกระดูกพรุน” เป็นอีกหนึ่งความเสื่อมที่เกิดขึ้นโดยแทบไม่แสดงอาการผิดปกติออกมาให้เห็นแม้แต่น้อย แม้ฟังดูอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่แท้จริงแล้วโรคกระดูกพรุนนั้นร้ายแรงกว่าที่เราคิดครับ โรคกระดูกพรุนเป็นเช่นไร บทความนี้มีคำตอบ
กระดูก: โครงสร้างสุดแกร่ง เสาหลักค้ำจุนร่างกาย
หากร่างกายปราศจากซึ่งกระดูกค้ำยัน ร่างกายย่อมไม่อาจคงรูปร่างเป็นร่างกายอยู่ได้และเราก็อาจเป็นเพียงก้อนเนื้อก้อนหนึ่งที่ไม่อาจมีชีวิตได้เช่นกัน แม้กระดูกจะแข็งแกร่งเพียงใด แต่ก็ถูกจัดให้เป็นเนื้อเยื่อชนิดหนึ่งครับ แต่เป็นเนื้อเยื่อพิเศษที่ดูดซึมเอาแคลเซียมเข้าไปประสานกันและแปลงสภาพตัวเองให้แข็งแกร่งเพื่อทำหน้าที่เป็นโครงร่างค้ำจุนร่างกาย กระดูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กระดูกส่วนแกนกลางและกระดูกส่วนระยางค์หรือส่วนแขนขา หน้าที่ของกระดูกนอกจากจะเป็นโครงร่างค้ำจุนร่างกายก็ยังมีหน้าที่เป็นเกราะป้องกันอวัยวะภายในที่แสนจะบอบบางเช่นปอดและหัวใจ รวมไปถึงอวัยวะสำคัญเช่นสมองที่อยู่ภายใต้กะโหลกศีรษะอันแน่นหนาของเราครับ
ภาวะกระดูกพรุนคืออะไร
กระดูกพรุนคือภาวะที่ความหนาแน่นและมวลกระดูกลดลง ซึ่งเกิดจากความเสื่อมถอยที่ตัวกระดูกอันมีสาเหตุมาจากแคลเซียมที่สะสมอยู่ในกระดูกสลายตัวออกมามากกว่าที่ถูกสะสมเข้าไปในตัวกระดูก ทำให้กระดูกเปราะบาง ผิดรูปและแตกหักได้ง่าย นอกจากนี้ในบางรายยังทำให้ความสูงของร่างกายลดลงเพราะเกิดการยุบตัวของกระดูก โรคกระดูกพรุนนี้อาจทำให้ร่างกายไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างปกติ เนื่องจากกระดูกไม่สามารถทนรับแรงต่าง ๆที่มากระทำต่อกระดูกได้ เช่น น้ำหนักตัว แรงกระแทก แรงกด และอาจทำให้เกิดการแตกร้าวเล็ก ๆ อยู่ภายในหรืออาจเกิดการหักของกระดูกส่วนสำคัญอันเป็นสาเหตุของความเจ็บปวดได้ เมื่อมีการตรวจมวลกระดูกจะมีค่าสำหรับการวินิจฉัยว่าคุณมีโรคกระดูกพรุนที่น่าสนใจอยู่ 3 ค่าดังนี้
– ค่ามวลกระดูกปกติจะอยู่ที่มากกว่า -1.0
-ภาวะกระดูกบางอยู่ที่ -1.0 ถึง -2.5
-ภาวะกระดูกพรุนอยู่ที่น้อยกว่า -2.5
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
แท้จริงแล้วในแต่ละวันร่างกายจะมีการสลายเซลล์กระดูกและมีการสร้างกลับคืนอยู่ตลอดเวลา การทำงานระหว่างกระบวนการทั้ง 2 จะอยู่ในภาวะสมดุลอยู่เสมอจึงทำให้กระดูกในภาวะปกติยังคงมีมวลกระดูกเท่าเดิมอยู่เสมอ แต่ในโรคกระดูกพรุนเราจะพบว่าอัตราการสลายตัวจะมากกว่าอัตราในการสร้างทดแทนซึ่งทำให้มวลกระดูกจะค่อย ๆลดลงอยู่ตลอดเวลาซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนมีดังนี้
– อายุ: อายุที่มากขึ้นทำให้อัตราการเสื่อมสลายของกระดูกมีมากกว่าการสร้างเมื่อเทียบกับคนในช่วง อายุอื่น
– ฮอร์โมน: ในผู้หญิงฮอร์โมนที่ช่วยดูดซึมแคลเซียมไว้ในกระดูกคือเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเพศ หญิง นี่จึงเป็นความโชคร้ายของผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง จึงเป็น สาเหตุที่ว่าทำไมเราจึงพบภาวะนี้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
– กรรมพันธุ์: ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีโรคกระดูกพรุนจะมีความเสี่ยงสูงกว่าคนที่ไม่มี
– การบริโภค: โดยปกติร่างกายเราจะสลายกระดูกออกมาเป็นแคลเซียมประมาณ 700-800 mg. ดังนั้นเราต้องทานแคลเซียมเข้าไปทดแทนอย่างน้อยต้องเท่ากับปริมาณที่สลาย การทานอาหารที่มีแคลเซียมไม่พอจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคกระดูกพรุน
– การใช้ยา: ยาบางชนิดก็มีผลในการยับยั้งการสร้างเซลล์กระดูก เช่นยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นต้น
อาการของโรคกระดูกพรุน
กระดูกพรุนเป็นภาวะที่จะไม่มีการแสดงอาการให้ปรากฏอย่างชัดเจน เว้นเสียแต่จะได้รับการตรวจมวลกระดูกจึงจะสามารถบอกได้ว่าคน ๆนั้นมีกระดูกพรุนหรือไม่ แต่ในบางกรณีก็อาจพบความผิดปกติเกิดขึ้นได้เช่นกัน อาการแสดงว่าคุณอาจมีภาวะนี้มีดังต่อไปนี้
– กระดูกหักหรือร้าวง่ายแม้ถูกชนหรือกระแทกไม่รุนแรง
– ปวดหลังเรื้อรัง
– หลังงอ หลังค่อม
– ความสูงลดลง
การรักษาโรคกระดูกพรุนและการป้องกัน
1. ยาเม็ดเสริมแคลเซียม ใช้ในผู้ที่มีความเสี่ยงว่าจะได้แคลเซียมไม่เพียงพอในแต่ละวัน
2.รับวิตามินดีเพื่อเสริมการดูดซึมแคลเซียม ใช้ได้ทั้งการรับวิตามินเสริมหรือการรับแสงแดดยามเช้า เพราะแสงแดดจะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตวิตามินดีเพิ่มขึ้น
3.ใช้ยาที่มีฤทธิ์ยังยั้งการทำงานของเซลล์ที่สลายกระดูก
4.ให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเพิ่มเติมในวัยหมดประจำเดือน
5.รับประทานอาหารที่มีปริมาณแคลเซียมสูงตามธรรมชาติ
6.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะการเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำสามารถยังยั้งการสลาย แคลเซียมในกระดูกไม่ให้สลายเร็วเกินไป
กระดูกหัก ภาวะแทรกซ้อนที่น่ากลัวที่สุดสำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุน
ภาวะแทรกซ้อนที่น่ากลัวที่สุดของผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนคือกระดูกหัก ซึ่งไม่จำเป็นต้องหกล้ม ผู้ที่มีภาวะนี้รุนแรง แค่เพียงแรงกระแทกเบา ๆ กระดูกก็หักได้แล้วครับ ซึ่งผู้เขียนเคยได้ยินอาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีผู้สูงอายุที่มีกระดูกพรุนแค่เพียงลงนั่งเก้าอี้ กระดูกข้อสะโพกก็หักเสียแล้ว กระดูกหักที่มักพบได้บ่อยในผู้ที่เป็นโรคกระดูกพรุนก็คือ กระดูกสันหลังหักแบบยุบ กระดูกข้อสะโพกหัก และกระดูกข้อมือหัก ภาวะกระดูกหักไม่ใช่เรื่องที่ดีเลยโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะมีผู้สูงอายุส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเดินได้อีกเลยหลังจากกระดูกหัก และที่สำคัญเมื่อกระดูกหักแล้วก็มีโอกาสมากที่กระดูกจะไม่สามารถเชื่อมติดกันเองได้เหมือนคนในวัยหนุ่มสาวครับ
แม้กระดูกพรุนอาจฟังดูรุนแรง โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุ แต่ความเสี่ยงเหล่านี้เราสามารถป้องกันและดูแลได้ การดูแลเอาใจใส่สุขภาพร่างกาย การคำนึงถึงอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมเช่นการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้จะทำให้เรา “ห่างไกล” จากโรคกระดูกพรุนได้ครับ
ติดตามสาระที่มีประโยชน์ผ่านช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

[…] ไขมันอุดตันในเส้นเลือด โรคเบาหวาน ภาวะกระดูกพรุน โรคหัวใจ […]
[…] จนอาจเกิด “ภาวะกระดูกพรุน” นับเป็นปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ […]
[…] นอกจากมวลกระดูกจะลดลงแล้ว ความยาวของกระดูกสันหลังก็ลดลง […]
[…] หักง่ายกว่าคนทั่วไป โรคกระดูกพรุนมักพบได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป […]
[…] เพราะผู้สูงอายุมักมีภาวะกระดูกพรุนอยู่แล้ว […]