ภาวะความดันโลหิตสูง: มฤตยูเงียบที่น่ากลัว มัจจุราชไร้เสียงและไร้ซึ่งคำเตือน

ภาวะความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นมฤตยูเงียบที่น่ากลัวครับ เพราะผู้ที่มีภาวะของความดันโลหิตสูงแทบจะไม่แสดงอาการอะไรออกมาเลย แต่หารู้ไม่ว่าการไม่แสดงอาการอะไรเลยท้ายที่สุดจะนำพาไปสู่ภาวะแทรกซ้อนและกลุ่มโรคต่าง ๆที่มีต้นเหตุมาจากความดันโลหิตสูงครับ ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะตรวจพบว่าตัวเองมีความผิดปกติก็ต่อเมื่อผ่านการตรวจร่างกายเท่านั้นเพราะเหตุนี้เองทำให้โรคนี้ถูกขนานนามว่าเป็นมัจจุราชไร้เสียงที่น่ากลัวอีกโรคหนึ่ง

ความดันโลหิตสูงคืออะไร

ความดันโลหิตสูง (hypertension) คือ ภาวะความผิดปกติของความดันเลือดภายในหลอดเลือดแดง โดยค่าความดันเลือดที่วัดได้จะได้ค่าความดันที่ “สูง” อยู่ตลอดเวลา ซึ่งปกติแล้วความดันโลหิตในคนปกติจะมีค่า 120/80 mmHg (มิลลิเมตรปรอท) โดยค่าความดันตัวแรกเราเรียกว่าค่า Systolic หรือค่าความดันในขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อส่งเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และค่าความดันตัวที่ 2 เราเรียกว่าค่า diastolic หรือค่าความดันในขณะที่หัวใจคลายตัวภายหลังการบีบตัวนั่นเอง

สาเหตุที่เราต้องมีความดันโลหิตเนื่องมาจากการบีบตัวของหัวใจแต่ละครั้ง ร่างกายของเราจะมีแรงต้านทานจากในหลอดเลือด หัวใจจึงต้องพยายามปั๊มหรือสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และความพยายามปั๊มเลือดเพื่อไปเลี้ยงร่างกายนี่เอง คือค่าความดันโลหิตที่เราวัดได้ ดังนั้นเมื่อร่างกายเกิดความผิดปกติจนทำให้แรงต้านนี้สูงขึ้น หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งเลือดออกไป เมื่อต้องพยายามปั๊มเลือดเพื่อเอาชนะแรงต้านให้ได้ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ความดันโลหิตของเราสูงขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขท้ายที่สุดความดันโลหิตของเราก็จะสูงอย่างถาวรกลายเป็นโรคความดันโลหิตในที่สุด

สาเหตุของโรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงแบ่งได้ 2 ประเภทคือ

        – ความดันโลหิตสูงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Primary Hypertension) กลุ่มนี้คือกลุ่มที่พบได้มากที่สุดและพบมากในวัยผู้ใหญ่ เรื่องน่าปวดหัวที่สุดสำหรับภาวะความดันโลหิตสูงในกลุ่มนี้คือมักมีอาการมานานแบบค่อยเป็นค่อยไปจนไม่อาจระบุต้นเหตุของโรคได้

        – ความดันโลหิตสูงที่ทราบสาเหตุ (Secondary Hypertension) ส่วนมากเกิดจากภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกาย เช่น มีความผิดปกติที่ไต ต่อมหมวกไต หรือมีหลอดเลือดผิดปกติแต่กำเนิด รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิด การใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์ เป็นต้น

แต่ในบางครั้งเราก็พบปัจจัยอื่นที่มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงครับ และปัจจัยที่ว่ามีดังต่อไปนี้

        – อายุ : อายุมากขึ้นมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากขึ้น

        – เพศ : ผู้ชายพบได้มากกว่าผู้หญิงและอายุเฉลี่ยที่พบก็น้อยกว่า

        – พันธุกรรม : ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า

        – การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงจะไปกระตุ้นให้เกิดความดันโลหิตสูง

        – สูบบุหรี่ : ทำให้หลอดเลือดแข็ง ตีบตัน หัวใจต้องบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดมากขึ้น

        – โรคอ้วน

        – ขาดการออกกำลังกาย

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

ที่น่าเศร้าคือโรคนี้ไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ ออกมาเลย การตรวจพบจึงต้องอาศัยการตรวจสุขภาพหรือวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ยกเว้นบางรายที่มีอาการรุนแรงก็อาจแสดงอาการบางอย่างออกมา เช่น ปวดศีรษะ เวียนหัว เลือดกำเดาไหล แต่อาการเหล่านี้ก็ยังไม่จัดว่าเป็นอาการจำเพาะเจาะจงจึงบอกไม่ได้อย่างชัดเจน โรคความดันโลหิตสูงจึงเป็นฆาตกรเงียบที่แฝงตัวเป็นกาฝากอย่างน่ากลัว

การวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง

โดยมากแล้วผู้ใดที่มีความดันโลหิตสูงกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะเข้าข่ายโรคความดันโลหิตสูงทั้งสิ้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ

               ระยะที่ 1 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 140-159/90-99 mmHg

               ระยะที่ 2 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 160/100 mmHg

               ระยะที่ 3 : วัดค่าความดันโลหิตได้ 180/110 mmHg ขึ้นไป

สำหรับผู้ที่มีค่าความดันโลหิตประมาณ 130/80 mmHgหรือสูงกว่าแต่ไม่ถึง 140/90 และต่อเนื่องเป็นเวลานาน คนเหล่านี้อยู่ในกลุ่มภาวะก่อนความดันโลหิตสูงซึ่งจะมีความเสี่ยงเป็นความดันโลหิตสูงได้ในอนาคต

ภาวะแทรกซ้อนของโรคความดันโลหิตสูง

อย่างที่บอกครับว่าอาการของโรคความดันโลหิตสูงนั้นไม่น่ากลัวเท่ากับภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เพราะภาวะแทรกซ้อนจากความดันโลหิตสูงคืออันตรายที่แท้จริงที่อาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตหรือเกิดความผิดปกติอย่างถาวรขึ้นในร่างกาย  ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ในผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูง ได้แก่

สมอง : ความดันโลหิตสูงทำให้หลอดเลือดสมองมีโอกาสตีบหรือโป่งพอง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่โรคหลอดเลือดสมองได้ในที่สุด

หัวใจ : เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักจากความพยายามในการบีบตัวเพื่อเอาชนะแรงต้านภายในหลอดเลือดอยู่เป็นระยะเวลานานจะทำให้หัวใจโตขึ้นได้ และประสิทธิภาพการทำงานจะลดลง มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

หลอดเลือด : เป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบ, แข็งหรือโป่งพอง

ตา : มีผลต่อหลอดเลือดที่ตา ทำให้เลือดออกที่จอประสาทตา และหลอดเลือดที่จอประสาทตาอุดตัน

ไต : มีผลต่อหลอดเลือดที่ไต ทำให้เลือดมาเลี้ยงไตไม่พอ ทำให้มีโอกาสเกิดภาวะไตวาย

การรักษาและป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคอาหาร ลดการทานโซเดียมหรืออาหารที่มีโซเดียมสูง รวมถึงการควบคุมไขมันและน้ำตาล

2. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สูบบุหรี่เพราะแอลกอฮอล์จะทำให้ความดันเลือดสูงและบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดแข็งตัวขาดความยืดหยุ่นอีกหนึ่งสาเหตุของความดันโลหิตสูง

3. หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ

4. หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

5. เรียนรู้วิธีขจัดความเครียดไม่ให้สะสม

6. ทานยาลดความดันโลหิตจามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

โรคความดันโลหิตสูงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากเราเรียนรู้และรู้จักมันดีพอ สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่การรักษา แต่อยู่ที่เราจะป้องกันตนเองและดูแลตนเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงเพื่อจะได้ไม่ต้องเผชิญหน้ากับมฤตยูเงียบที่แฝงไว้ด้วยความน่ากลัวเช่นนี้

ติดตามสาระดี ๆผ่านทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

ภาวะความดันโลหิตสูง

7 ความคิดเห็น

  1. […] ความเครียดส่งผลต่อความดันโลหิตในร่างกายครับ ผู้ที่มีภาวะความเครียดอยู่เสมอจะส่งผลให้หลอดเลือดทั่วร่างกายหดตัวทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆในร่างกายได้น้อยลง ทำให้หัวใจต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อพยายามเอาชนะแรงต้านในหลอดเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นจากการหดตัวของหลอดเลือดส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้นครับซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ในที่สุด […]

  2. […] สำหรับหนุ่มสาวออฟฟิศ ความเครียดจากการทำงานเป็นอีกหนึ่งสาเหตุของโรคความดันโลหิตสูงครับ ซึ่งจากโรคความดันโลหิตสูงนี้เองหากคุณไม่ควบคุมระดับความดันให้อยู่ในเกณฑ์ปกติก็มีโอกาสที่จะพัฒนาต่อไปเป็นโรคร้ายแรงอื่น ๆได้ในที่สุดครับ แต่ทั้งนี้นอกจากความเครียดจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงแล้ว พฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คุณเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็ม การขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อยู่เป็นประจำก็เป็นปัจจัยเสี่ยงก่อโรคนี้ครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here