เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน: 7 ความกังวลที่คนส่วนใหญ่วิตกกัน

1
692
เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน: 7 ความกังวลที่คนส่วนใหญ่วิตกกัน

ทุกครั้งที่ตัวเลขนำหน้าอายุเปลี่ยน หลายคนรู้สึกว่าชีวิตได้เติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่ง การก้าวผ่านในแต่ละช่วงเวลาของชีวิต มักจะมาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ แต่การเปลี่ยนเข้าสู่วัย 40 ที่ชีวิตผ่านมาครึ่งทางกลับสร้างความวิตกกังวลไม่น้อยแก่คนส่วนใหญ่ “Midlife Crisis” หรือวิกฤตวัยกลางคน คำพูดที่มักได้ยินกันบ่อยๆ ฟังกี่ครั้งก็สะเทือนใจ! ในความเป็นจริงทุกคนล้วนเผชิญกับปัญหานี้หรือไม่ อะไรคือปัจจัยที่ส่งผลให้คิดเช่นนั้น แล้วเรากำลังเผชิญกับอะไรกันแน่ เมื่อชีวิตก้าวเข้าสู่วัยกลางคน ความกังวลที่คนส่วนใหญ่วิตกกันนั้น มีเรื่องอะไรบ้าง

7 ความกังวลที่วัยกลางคนส่วนใหญ่วิตกกัน

  1. ความจริงที่ผู้สูงวัยต้องเผชิญ 

นอกจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เห็นได้ชัดเจนเมื่อเข้าสู่วัยชรา รู้หรือไม่ว่าลึกๆ แล้วกลับมีบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใน หรืออาจจะเรียกว่าเป็นภัยเงียบที่ค่อยๆ กัดกินจิตใจใครหลายคนอยู่ก็ว่าได้ ความรู้สึกเหงา ความสันโดษ ความอ้างว้างของบั้นปลายชีวิต คือสิ่งที่ผู้สูงวัยหลายท่านกำลังเผชิญ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นสังคมกลับลดบทบาท และให้ความสำคัญต่อผู้สูงวัยน้อยลง เมื่อถึงเวลานั้นเราจะรับมืออย่างไร แต่หากยอมรับ ยินดีกับสิ่งที่มีอยู่ และปล่อยวาง ก็สามารถเยียวยาให้ผ่านพ้นความรู้สึกเหล่านั้นไปได้ 

  1. ความเสื่อมถอยของสุขภาพ

ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ และอุบัติเหตุพร้อมที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา สุขภาพจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดก็ว่าได้ เพราะสุขภาพของเราในวันนี้ส่วนใหญ่ล้วนมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตในอดีต แน่นอนว่าเราไม่อาจต้านความเสื่อมของร่างกายตามวัยได้ แต่สามารถที่จะชะลอเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ เราควรดูแลตัวเองตั้งแต่วันนี้ ใส่ใจกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การนอนพักผ่อนอย่างเพียง และการออกกำลังกายในทุกวัน ในวัยนี้การใช้ร่างกายหนักๆ ควรเลิกให้หมด

  1. ความไม่มั่นคง

หลายคนเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน มุมมองต่างๆ ในชีวิตเริ่มเปลี่ยนไป กลับรู้สึกว่าชีวิตไม่มั่นคง ไม่เป็นไปตามที่คิดไว้  เริ่มโหยหาบางอย่าง ละทิ้งบางอย่าง ความมั่นคงมีทั้งในแง่ของการทำงาน การเงิน เรื่องคู่ชีวิต แม้แต่การเลือกที่จะอยู่คนเดียวเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ เรียกได้ว่าเป็นช่วงอายุที่เป็นศูนย์รวมของความคาดหวัง ทั้งจากตัวเองและคนรอบข้าง จนอาจเกิดคำถามกับตัวเองว่า เราดีพอหรือยัง ไม่ว่าที่ผ่านมาจะเป็นอย่างไร แต่ตอนนี้เราต้องให้ความสำคัญกับความมั่นคงมากขึ้น

  1. กังวลกับเป้าหมายในชีวิตที่ยังทำไม่สำเร็จ

มุมมองต่อความสำเร็จของแต่ละคนนั้นต่างกัน ทุกคนมีกรอบความคิดเป็นของตนเอง การเดินทางไปสู่เป้าหมาย ระหว่างทางย่อมเจอกับอุปสรรคและบางเรื่องที่ไม่อาจคาดเดา พอเข้าสู่วัยกลางคน หากเป้าหมายนั้นยังไม่สำเร็จ อาจกลายเป็นแรงกดดันมหาศาล ความสั่นคลอนในหัวใจมันก็มากขึ้น เราจึงรับรู้ได้ถึงความกังวลที่ถาโถมเข้ามา จนอาจกลายเป็นความเครียด ความรู้สึกท้อแท้ได้ คงต้องย้อนกลับไปถามตัวเองว่า เราตั้งเป้าหมายและพยายามทำให้สำเร็จในทุกวันหรือไม่ ถ้าเราได้พยายามถึงที่สุดแล้ว ไม่แน่ว่าอาจมีบางอย่างผิดพลาดก็เป็นได้

  1. รู้สึกไม่พอใจในชีวิตของตนเอง

ในวัยนี้ควรจะเลิกเปรียบเทียบชีวิตของตนเองกับคนอื่นได้แล้ว ความพึงพอใจในชีวิตของแต่ละคนนั้นต่างกัน  ขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ประสบการณ์และมุมมองการใช้ชีวิต ช่วงวัยกลางคนที่หลายคนรู้สึกว่าชีวิตยังไม่เข้าที่เข้าทาง ยังไม่ถูกเติมเต็ม ไม่พอใจกับชีวิตที่เป็นอยู่ ไหนจะความกดดันทางสังคม ความคาดหวังของคนรอบข้าง ยิ่งดิ้นรนมากๆ อาจรู้สึกเหนื่อยกับชีวิต ลองตอบตัวเองให้ได้ว่า จริงๆ แล้วเราต้องการอะไรกันแน่ อะไรทำให้เราทุกข์ใจ เราอยากมีชีวิตแบบไหน อะไรเป็นสิ่งกระตุ้นเรา อะไรเป็นสิ่งที่ฉุดเรา 

  1. ปัญหาด้านการเงิน

เรื่องที่คนส่วนใหญ่กังวลที่สุดก็ว่าได้ เป็นสิ่งที่ควรจัดการให้ได้เมื่ออายุขึ้นเลข 4 ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงเรื่องการวางแผนทางการเงิน การลงทุน สินทรัพย์ที่มีอยู่ หรือมีเงิน 10 ล้านในบัญชี แต่หมายถึงปัญหาเงินไม่พอใช้ หนี้สินจากการใช้จ่ายเกินตัว หรือนิสัยการใช้เงินที่ไม่ถูกต้อง ที่จะส่งผลต่ออนาคตของคุณ อะไรที่มีแนวโน้มทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ก็ควรหยุด! ตั้งแต่ตอนนี้ อย่านิ่งเฉย หาทางแก้ซะ! เริ่มช้า ยังดีกว่าไม่ได้เริ่มเลย เพราะเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ในวันที่ไม่มีเรี่ยวแรงทำมาหากิน หมดเวลาที่จะแสวงหาทรัพย์สมบัติใดๆ ลองนึกดูว่า ถ้าไม่รู้จักวางแผนให้ดีแล้ว จะใช้ชีวิตอย่างไร 

  1. การสูญเสียคนใกล้ชิด

หลายคนเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน เริ่มตระหนักได้ว่าอะไรๆ ในชีวิตก็ไม่แน่นอน ความตายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมาก บางคนสูญเสียคนในครอบครัว บางคนสูญเสียคนรัก บางคนสูญเสียเพื่อน เหมือนเรากำลังเฝ้ามองใบไม้ที่ปลิดปลิว ค่อยๆ ร่วงหล่นทีละใบ ทีละใบ ในวัยนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่ของคุณยังอยู่ ถือว่าคุณเป็นคนที่โชคดีมาก การเฝ้ามองพวกท่าน  เปรียบเหมือนกระจกสะท้อนตัวเราในอนาคต เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ไม่ยึดติด ไม่คาดหวัง เรียนรู้ที่จะอยู่คนเดียวให้ได้ และใช้ชีวิตให้สนุกขณะที่ยังมีลมหายใจ 

วิกฤตวัยกลางคนอาจจะมีหรือไม่มีก็เป็นได้ ขึ้นกับวิธีคิดและการมองชีวิตของเรา ในวัยนี้อาจประสบกับปัญหาแค่บางเรื่อง แต่คงไม่ถึงขั้นวิกฤตร้ายแรง กุญแจสำคัญของ Midlife Crisis คือ การใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มาทั้งชีวิต ช่วยเสริมความมั่นคงทางใจ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจทุกอย่าง แค่ทำความเข้าใจ ธรรมชาติในสิ่งที่เราเป็น หลีกเลี่ยงทัศนคติในทางลบต่อชีวิต เพราะยังมีอะไรอีกตั้งมากมายที่เราไม่รู้ เรียนรู้ที่จะมีความสุขกับปัจจุบัน วางแผนอนาคตให้ดี อย่ากังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น

ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน: 7 ความกังวลที่คนส่วนใหญ่วิตกกัน
เมื่อชีวิตเข้าสู่วัยกลางคน: 7 ความกังวลที่คนส่วนใหญ่วิตกกัน

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here