ภาวะโรคซึมเศร้า: ภัยร้ายแอบแฝง ภาวะอันตรายที่ร้ายแรงกว่าที่คุณคิด

ภาวะโรคซึมเศร้า

ภาวะโรคซึมเศร้าเป็นหนึ่งในโรคที่ถูกพูดถึงกันมากในปัจจุบันครับ และเป็นภาวะที่ส่งผลเสียถึงขั้นที่ผู้ที่มีอาการสามารถทำร้ายตัวเองได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศและทุกวัย จึงเป็นอีกหนึ่งภาวะที่สร้างผลกระทบแก่ทั้งตัวผู้ป่วยและครอบครัวเป็นอย่างมาก โรคซึมเศร้าเป็นอย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ

ใคร ๆก็บอกว่าซึมเศร้า แล้วต้องเศร้าขนาดไหนถึงกลายเป็นโรคซึมเศร้า

ความเศร้าเป็นอารมณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนครับ ต้นเหตุของความเศร้าโดยมากมักเกิดจากความผิดหวังเสียใจ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่สมหวังในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ความเศร้าจึงเป็นกลไกหนึ่งที่ร่างกายแสดงออกมาได้โดยไม่ผิดปกติแต่อย่างใด เราทุกคนล้วนแล้วแต่เคยผ่านภาวะนี้มาแล้วทั้งสิ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่งอารมณ์เศร้านี้จะค่อย ๆจางหายไปและเราก็จะกลับมาเป็นปกติได้ในที่สุด

แต่โรคซึมเศร้าหรือที่เรียกกันว่า Depressive Disorder คือความผิดปกติทางจิตชนิดหนึ่งซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยจมอยู่กับอารมณ์เศร้า สิ้นหวังและรู้สึกว่าตนเองไร้ค่าไม่มีประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและผู้อื่น ความรู้สึกเหล่านี้จะมีความรุนแรงมากกว่าความเศร้าตามปกติรวมถึงเกิดยาวนานกว่าอีกด้วย โรคซึมเศร้าจะมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยมากครับ ทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกไม่อยากที่จะทำอะไรเลยและปล่อยตัวให้จมอยู่กับความเศร้านั้นตลอดเวลา ผู้ป่วยบางรายสามารถนอนมองเพดานได้เป็นวัน ๆ โดยไม่ยอมลุกไปไหน ไม่ต้องการพูดคุยกับใคร ไม่อยากทำอะไรเลยแม้กระทั่งการดูแลสุขอนามัยของตนเอง นี่คือความแตกต่างของอาการเศร้ากับภาวะของโรคซึมเศร้านั่นเอง

โรคซึมเศร้ามีกี่ชนิด?

โรคซึมเศร้ามี 2 ชนิดซึ่งสามารถแบ่งได้ตามระดับความรุนแรงของโรคได้ดังนี้

– ชนิดรุนแรง (Major Depressive Disorder) เป็นชนิดที่มีความรุนแรงมากและส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างชัดเจนของผู้ป่วย หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องก็อาจเป็นเหตุนำไปสู่ปัญหาการทำร้ายตนเองและการฆ่าตัวตายได้ในที่สุด

– ชนิดเรื้อรัง (Persistent Depressive Disorder) แม้จะรุนแรงน้อยกว่าแบบแรกแต่โรคซึมเศร้าชนิดนี้จะอยู่กับผู้ป่วยยาวนานกว่าแบบแรกครับ ผู้ป่วยมักมีอาการแสดงตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไปและมีโอกาสมากครับที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรังจะมีอาการแสดงเป็นชนิดรุนแรงร่วมด้วยในบางครั้ง

แม้ภาวะของโรคซึมเศร้าจะพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะไม่เป็นโรคซึมเศร้าครับเพราะโรคนี้ไม่ว่าเพศไหนก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน

อาการใดเป็นอาการของโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ามักมีอาการแสดงที่แตกต่างกันครับ แต่อาการเด่น ๆ ที่ทำให้เราแยกผู้ป่วยโรคซึมเศร้าออกจากภาวะซึมเศร้าโดยทั่วไปคือ ผู้ป่วยมักรู้สึกเศร้า หดหู่ และวิตกกังวล มีความคิดว่าตนเองไร้ค่าไม่มีความหมายต่อคนอื่น รวมถึงรู้สึกโดดเดี่ยวสิ้นหวังและหงุดหงิดง่าย โดยอารมณ์เหล่านี้จะมีความรุนแรงและปรากฏยาวนานกว่าภาวะซึมเศร้าตามปกติ เพราะความผิดปกติที่เกิดขึ้นทางจิตใจนี้เองบ่อยครั้งเราจะพบว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้าก็มีความผิดปกติทางร่างกายเกิดขึ้นร่วมด้วยเช่น รู้สึกอ่อนล้า เจ็บปวดตามร่างกาย มีความผิดปกติในการนอนหลับบางคนหลับยากแต่บางคนนอนหลับมากเกินไป ไม่มีสมาธิในการทำงาน หมดความสนใจในเรื่องที่ตนเองเคยชอบ มีพฤติกรรมแยกตัวเองออกจากสังคม ไม่สุงสิง ไม่พูดคุยกับใคร และในรายที่เป็นหนักมักมีความคิดจะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง

โรคซึมเศร้าเกิดจากสาเหตุใด

โรคซึมเศร้าเกิดจากหลายสาเหตุและปัจจัยมาประกอบกันและพัฒนาอาการไปสู่ภาวะซึมเศร้า โดยอาจเกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • – สมองทำงานผิดปกติทำให้ระดับของสารเคมีในสมองไม่สมดุล
  • – มีนิสัยดั้งเดิมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคซึมเศร้า
  • – มีเหตุการณ์ตึงเครียดมากระทบจิตใจอย่างรุนแรง
  • – จากการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้เกิดโรคซึมเศร้า

วินิจฉัยอย่างไรจึงจะรู้ว่าใครเป็นโรคซึมเศร้า

แพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้ที่มีอาการของโรคซึมเศร้าเบื้องต้นด้วยการพูดคุยเพื่อประเมินอาการ ประเมินความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมว่าจะเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ รวมถึงการประเมินระดับความรุนแรงของโรคโดยการใช้ชุดคำถามที่ออกแบบมาเพื่อประเมินบุคคลที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าครับ

หากแพทย์ประเมินแล้วพบว่าบุคคลนั้นเข้าข่ายที่จะเป็นโรคซึมเศร้าก็จะส่งต่อเพื่อทำการตรวจหาสาเหตุว่าอาการที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรคอื่น ๆ หรือไม่ โดยการตรวจเลือดและปัสสาวะแล้วให้การพิจารณารักษาต่อไป

โรคซึมเศร้า รู้ไวรักษาได้ การรักษาไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

ในปัจจุบันมีวิธีการรักษาโรคซึมเศร้าอยู่ 3 วิธี ที่ทางการแพทย์นิยมใช้กันได้แก่

1. การใช้ยาต้านซึมเศร้า ซึ่งจะเข้าไปช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองทำให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น การใช้ยาจะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาเองโดยเด็ดขาด

2. การพูดคุยบำบัดทางจิต เป็นวิธีการที่ได้ผลดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยทีมีอาการไม่รุนแรง ซึ่งนักจิตบำบัดจะช่วยบำบัดผู้ป่วยเพื่อให้มีทัศนคติต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสิ่งต่าง ๆ ดีขึ้นปรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ช่วยให้ผู้ป่วยรับมือกับปัญหาความเครียดได้ดีขึ้น

3. การกระตุ้นเซลล์สมองใช้ในกรณีที่รุนแรงและมีแนวโน้มที่ผู้ป่วยอาจทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย สามารถแบ่งได้ 2 วิธีคือ

– การช็อคด้วยไฟฟ้า

– การกระตุ้นสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

การป้องกันภาวะโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้ายังไม่มีวิธีการป้องกันโดยตรง แต่กระนั้นการทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใสก็มีส่วนช่วยป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ รวมถึงการสังเกตจากคนใกล้ชิดก็สามารถช่วยให้เราสามารถรู้ได้ล่วงหน้าครับว่าคนใกล้ชิดมีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้หรือไม่

แม้โรคนี้จะน่ากลัวแต่หากเรารู้จักสาเหตุของปัญหาและรู้จักวิธีการป้องกันตัวเองและคนรอบตัวจากความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซึมเศร้า โรคนี้ก็จะไม่น่ากลัวอย่างที่คิดครับ ภาวะซึมเศร้าสามารถรักษาให้หายได้หากได้รับการวินิจฉัยอาการอย่างทันท่วงที สำหรับผู้ที่ต้องการคำแนะนำปรึกษาสามารถโทรไปได้ที่เบอร์สายด่วนสุขภาพจิต 1323 ครับ

ติดตามสาระดี ๆผ่านช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

ภาวะโรคซึมเศร้า

7 ความคิดเห็น

  1. […] “เครียด ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน” ปัญหาใหญ่ที่คนวัยทำงานหลายท่านกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในที่ทำงาน ภาระความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ปัญหาครอบครัว หรือความรู้สึกไร้ตัวตน ภาวะเช่นนี้นอกจากจะทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาว รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกายภาพได้อีกด้วย ความเครียดที่สะสมเรื่อยๆ มีแนวโน้มว่ารุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ก่อนที่ความรู้สึกจะดิ่งลึกไปสู่จุดนั้น ควรเฝ้าสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม เรามี 6 วิธีที่ช่วยบำบัดความเศร้าในวัยทำงานมาฝากกันค่ะ    […]

  2. […] ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่ต้องการกำลังใจ การดูแลแต่ร่างกายโดยละเลยด้านจิตใจจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงยิ่งหดหู่และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า สมาชิกในครอบครัวควรหมุนเวียนมาให้กำลังใจหรือร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขายังรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญ หมั่นพูดคุย ทักทาย แล้วผู้ป่วยจะมีความสุขโดยลืมความเจ็บป่วยที่กำลังเผชิญอยู่ครับ […]

  3. […] ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่ต้องการกำลังใจนอกเหนือไปจากการดูแลทางด้านร่างกายครับ การละเลยการดูแลด้านจิตใจจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงควรหมุนเวียนมาให้กำลังใจหรือมาร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขายังรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัวอยู่ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยต้องรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างเด็ดขาด เพราะกำลังใจที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้ดีที่สุดมาจากคนในครอบครัวเป็นหลักครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here