เสริมเกราะป้องกันทางใจกับ 6 วิธีที่ช่วยบำบัดเศร้าในวัยทำงาน

1
1553
6 วิธีที่ช่วยบำบัดเศร้าในวัยทำงาน

“เครียด ซึมเศร้า หมดไฟในการทำงาน” ปัญหาใหญ่ที่คนวัยทำงานหลายท่านกำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในที่ทำงาน ภาระความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ปัญหาครอบครัว หรือความรู้สึกไร้ตัวตน ภาวะเช่นนี้นอกจากจะทำให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิตแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อจิตใจในระยะยาว รวมถึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคทางกายภาพได้อีกด้วย ความเครียดที่สะสมเรื่อยๆ มีแนวโน้มว่ารุนแรงขึ้น อาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่นำไปสู่โรคซึมเศร้าด้เช่นกัน ก่อนที่ความรู้สึกจะดิ่งลึกไปสู่จุดนั้น ควรเฝ้าสังเกตอาการที่เกิดขึ้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริง และรับมือกับปัญหาได้อย่างเหมาะสม เรามี 6 วิธีที่ช่วยบำบัดเศร้าในวัยทำงานมาฝากกันค่ะ   

6 วิธีที่ช่วยบำบัดความเศร้าในวัยทำงาน

  1. อย่าปล่อยให้ตัวเองว่าง

เมื่อใดก็ตามที่คุณมีเวลาว่าง คุณควรฉวยโอกาสนี้ เพื่อปลดล็อคความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงานที่เหน็ดเหนื่อย แต่หากมีอารมณ์ความรู้สึกแง่ลบ หรือเผลอคิดในสิ่งที่ทำให้รู้สึกหดหู่ใจ คุณควรตั้งสติ แล้วรีบสลัดความคิดนั้นออกไปทันที อย่าจมอยู่กับความรู้สึกนั้นนาน แนะนำว่าควรหากิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดลง อย่างการผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีทั่วๆ ไป เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนังดีๆ สักเรื่อง ทำอาหาร ออกกำลังกาย อะไรก็ตามที่คุณชอบและสามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นได้นาน  เป็นการแทนที่ความรู้สึกเศร้าหมองด้วยการไม่ปล่อยให้ตัวเองมีเวลาว่างคิดถึงเรื่องแย่ๆ นั่นเอง

  1. ลดความรู้สึกแง่ลบและความกังวล ผ่านกิจกรรมการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ 

ใจที่ว้าวุ่น ความคิดที่ฟุ้งซ่าน ต้องเบรกด้วยกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างช้าๆ เพราะจะช่วยให้คุณเพ่งสมาธิจดจ่อกับการกระทำในขณะนั้นได้ดี  อย่างเช่น การฝึกโยคะ ที่ไม่ใช่แค่การออกกำลังกายเท่านั้น แต่เป็นการฝึกที่รวมกายและใจให้เป็นหนึ่งเดียว สอดคล้องกับจังหวะการหายใจอย่างถูกต้อง แถมยังช่วยเรื่องอาการออฟฟิศซินโดรม ลดความเครียด คลายความกังวลและฟื้นฟูการเข้าสังคมอีกด้วย เมื่อเรามีสมาธิ ก็จะเริ่มมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง คิดบวกมากขึ้น นั่นเป็นเพราะว่าเราเลือกทำกิจกรรมที่เป็นการใส่ใจดูแลตัวเอง 

  1. ปรับสมดุลการใช้ชีวิต ด้วยการนอนหลับพักผ่อนให้เป็นเวลา

เวลาที่เรารู้สึกเหนื่อยล้า คนเรามักจะรู้สึกอยากนอนพักผ่อนมากที่สุด แต่อาจไม่ใช่สำหรับคนที่มีปัญหาความเครียดรุมเร้า มีเรื่องเศร้ากวนใจ ในช่วงวัยทำงานหลายคนอาจนอนดึกจนติดเป็นนิสัย  หรือมีบางเรื่องที่ทำให้กังวลก่อนนอน การข่มตานอนหลับกลับกลายเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก การปรับให้มีสุขอนามัยการนอนที่ดี จึงเป็นการบำบัดที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า อาจเริ่มจากการปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการนอนหลับ งดการเสพสื่อผ่านหน้าจอทุกชนิดก่อนนอน เข้านอนทันทีเมื่อรู้สึกง่วงนอน เข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดียวกัน เป็นการช่วยปรับสมดุลของร่างกายให้เหมาะสมกับการนอนหลับ ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

  1. ลาพักร้อนเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อหลีกหนีจากความวุ่นวาย 

หากช่วงไหนที่สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเต็มไปด้วยบรรยากาศอึดอัด จนทำให้คุณรู้สึกหมดพลัง หดหู่จนไม่อยากลุกจากเตียงเพื่อไปทำงาน หรือเป็นช่วงที่เจอกับสถานการณ์อันหนักหน่วงในชีวิต ถ้าเป็นไปได้ลองจัดตารางลาพักร้อนเป็นเวลาสั้นๆ เพราะการเดินทางจะทำให้คุณได้ค้นพบตัวเอง เพิ่มความรู้ประสบการณ์ให้ชีวิตในแบบที่อาจจะไม่เคยสัมผัสมาก่อน การไปเที่ยวสถานที่ใหม่ๆ ช่วยให้เพลิดเพลินจนลืมความกังวลไปได้ ช่วยให้เรารู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ฝึกความอดทน ได้มิตรภาพจากผู้คนที่เราเจอระหว่างการเดินทาง ไม่แน่ว่าการเที่ยวในครั้งนั้นอาจเป็นจุดเปลี่ยนในทางที่ดี ได้รับพลังบวกเพิ่มเข้ามา ทำให้มีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต

  1. ลองปรับทัศนคติในการทำงานและการใช้ชีวิต

เพราะสถานการณ์หรือเหตุการณ์บางอย่างอาจเป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก เราไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนความคิด ทัศนคติและการกระทำของผู้อื่นได้ แม้แต่โครงสร้างขององค์กรบางแห่ง แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่เกินความสามารถของเรา หากสาเหตุของปัญหาส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่อาจควบคุมได้ อย่างแรกเลยคือ เราควรทำความเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่เป็น โดยจดจ่ออยู่กับสิ่งที่สามารถแก้ไขได้แทน พยายามหลีกเลี่ยงกับคนที่มีความคิดในแง่ลบ กล้าที่จะเปิดใจคุยกับผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา ยอมรับความแตกต่างของแต่ละคน และเปิดใจรับฟังความคิดเห็นที่อาจไม่ตรงกัน ทั้งหมดนี้ให้โฟกัสไปที่เรื่องงาน นอกเหนือเวลางานก็ไม่ควรเอาเรื่องพวกนี้มาคิดให้ปวดหัว 

  1. พยายามเข้าหาใครสักคนที่เราคุ้นเคย และไว้วางใจได้

ปัญหาชีวิต เป็นความลับที่ยากจะนำไปปรึกษาใคร สร้างความทุกข์ในใจที่บอกใครไม่ได้ จนอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า แต่การได้ระบายความรู้สึกอัดอั้นภายในใจกับใครสักคน เป็นหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา คลายความเศร้า วิตกกังวลลงได้ไม่น้อย คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะปรึกษาคนในครอบครัว เพื่อน หรือคู่ชีวิต  ซึ่งต้องเป็นคนที่สามารถไว้ใจได้และไม่ตัดสินเรา สำหรับบางเรื่องที่ไม่สะดวกใจเล่าให้คนใกล้ชิดฟัง แนะนำให้ปรึกษานักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความชำนาญ ให้คำปรึกษาที่ดี และสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการความรู้สึกด้านลบได้อย่างตรงจุด

วัยทำงาน ถือเป็นอีกกลุ่มเสี่ยงที่กำลังเผชิญกับปัญหาความเครียดเรื้อรัง จนพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้โดยที่บางคนอาจไม่รู้ตัว วิธีที่นำมาฝากกันนี้เป็นเพียงข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการดูแลจิตใจตนเอง เมื่อเกิดความรู้สึกเศร้าหมอง หากมีอาการเศร้า หดหู่ เบื่อหน่าย อ่อนไหวง่าย ฉุนเฉียว รู้สึกสิ้นหวัง เป็นเวลายาวนานติดต่อกันหลายสัปดาห์ แนะนำให้ควรปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและหาแนวทางแก้ไขต่อไป

ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

6 วิธีที่ช่วยบำบัดเศร้าในวัยทำงาน
6 วิธีที่ช่วยบำบัดเศร้าในวัยทำงาน

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here