การหลงลืมเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ครับ การหลงลืมอาจเกิดจากการที่เราหมกมุ่นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกินไปจนละเลยเรื่องอื่น หรืออาจเกิดจากภาวะของโรคที่เป็นและส่งผลให้เกิดภาวะหลงลืมได้ อาการหลงลืมโดยมากมักจะไม่น่าวิตกกังวลเท่าใดนักนอกเสียแต่ว่าการหลงลืมนั้นจะผิดปกติอย่างรุนแรงจากภาวะสมองเสื่อมครับ ในบทความนี้เราจะพาทุกท่านไปรู้จัก 6 อาการบ่งบอกภาวะสมองเสื่อมว่าแตกต่างจากอาการหลงลืมธรรมดาอย่างไร
สมองมนุษย์ไม่ต่างจากคอมพิวเตอร์
ก่อนจะไปรู้จักกับอาการหลงลืมหรือโรคสมองเสื่อม เรามาทำความรู้จักกันคร่าว ๆว่าสมองของเรามีหน้าที่อย่างไร
สมองของมนุษย์ประกอบไปด้วยเซลล์ประสาทเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายประมาณ 8.6 หมื่นล้านเซลล์ มีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม ประกอบไปด้วยไขมันเป็นส่วนประกอบหลัก
สมองซีกซ้ายจะทำงานควบคุมร่างกายซีกขวา และซีกขวาจะควบคุมร่างกายซีกซ้ายในลักษณะ “ครอส บอดี้” นอกจากนี้สมองยังควบคุมลักษณะการแสดงออกของอุปนิสัย พฤติกรรม อารมณ์ การคิด วิเคราะห์ ความรู้สึกต่าง ๆ เป็นต้น
จึงอาจกล่าวได้ว่าสมองเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆของร่างกายเพราะเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมทุก ๆระบบในร่างกาย ไม่ต่างจาก “เมน คอมพิวเตอร์” ในองค์กรต่าง ๆนั่นเอง
ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร
ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) คือภาวะที่สมองมีการทำงานแย่ลงจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน ความเสื่อมเกิดจากอายุที่มากขึ้น พันธุกรรม หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ เช่นความดันสูง ไขมันในเลือดสูง หรืออาจเปรียบเทียบได้ว่าภาวะสมองเสื่อมก็คล้าย ๆกับคอมพิวเตอร์ที่แฮงค์บ่อย ๆนั่นเอง
6 อาการบ่งบอกภาวะสมองเสื่อมที่ควรรู้
อย่างที่กล่าวในข้างต้นว่า ภาวะสมองเสื่อมจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจึงมีอาการดังต่อไปนี้
1. เสียความทรงจำ: การสูญเสียความทรงจำเป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดของผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม และมักแสดงออกอย่างชัดเจนในช่วงแรกทำให้เราสังเกตเห็นได้ง่าย ผู้ป่วยมักหลงลืมสิ่งที่ทำเป็นประจำเช่นลืมวิธีใส่เสื้อ ลืมทางกลับบ้าน ลืมสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น
2. มีปัญหาในการสื่อสาร การใช้คำและภาษา: ในระยะแรกอาจเริ่มจากการนึกคำไม่ค่อยออก พูดจาติดขัดและการพูดจะน้อยลง ๆ ถัดจากนั้นจะเริ่มพูดไม่เป็นภาษาจนถึงขั้นเหลือเพียงแค่การเปล่งเสียงร้องอื้ออ้าเท่านั้น
3. มีปัญหาในการใช้เหตุผลหรือแก้ไขปัญหา: มีการตอบโต้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นผิดเพี้ยนไปจากเดิม เช่นเมื่อไม่พอใจอะไรอาจใช้ความรุนแรงเช่นทุบตี โวยวาย
4. มีปัญหาในการวางแผนการจัดการงานต่าง ๆ : ลำดับขั้นตอนการทำงานไม่ได้ เช่นเมื่อน้ำที่ต้มไว้เดือดอาจจะนั่งดูน้ำเดือดเฉย ๆ โดยไม่ปิดเตา หรือปล่อยน้ำให้ล้นโดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
5. มีปัญหาในการเคลื่อนไหว: การทำงานของกล้ามเนื้อไม่ประสานกัน หลงลืมไปว่าจะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร
6. มีปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจ
-บุคลิกภาพเปลี่ยน พฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่นไม่ยอมอาบน้ำ ก้าวร้าว
-มีอาการซึมเศร้า
-มีความหวาดระแวง
-กระสับกระส่าย โวยวาย หรือถึงขั้นอาละวาด
-ประสาทหลอน
สมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะขี้หลงขี้ลืม
ในผู้สูงอายุอาจมีความทรงจำระยะสั้นบางอย่างที่แย่ลง นั่นเป็นอาการปกติที่มักเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ภาวะหลงลืมนี้จึงไม่ใช่ภาวะเดียวกับภาวะสมองเสื่อม คุณตาคุณยายหรือคนรอบข้างมักเหมารวมไปว่า “เป็นโรคสมองเสื่อม” และคิดว่าตนเองบกพร่องด้านความทรงจำทั้ง ๆ ที่ภาวะหลงลืมแบบนี้มีอาการเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับภาวะสมองเสื่อม อาการหลงลืมที่มักพบได้บ่อย ๆ ในคุณตาคุณยายที่อายุมากเช่น ลืมว่าวางของไว้ตรงไหน ลืมว่าเปิดน้ำทิ้งเอาไว้ ลืมว่าตนเองต้มน้ำแล้วไปทำอย่างอื่น หรือลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไหร่ สิ่งสำคัญคือภาวะขี้หลงขี้ลืมไม่มีผลต่อการดำรงชีวิตตามปกติ และดีขึ้นได้ถ้ามีสมาธิหรือใช้การจดบันทึกเพื่อเตือนความจำ
ภาวะสมองเสื่อมก็ไม่ใช่โรคอัลไซเมอร์
โดยทั่วไปเรามักเหมารวมว่าโรค 2 โรคนี้คือโรคเดียวกันทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมต่างหาก
ภาวะสมองเสื่อมเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการดื่มสุราเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมองหรือการขาดวิตามินบางชนิดเช่น วิตามิน B3 เป็นต้น
ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากภาวะสมองเสื่อม
1. ส่งเสริมกระตุ้นทักษะด้านการรับรู้ ความคิดความเข้าใจ
ปัจจุบันมีกิจกรรมหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมทักษะในด้านนี้เช่น การเล่นหมากรุก เกมส์เสริมทักษะ การเล่นไพ่ ฯลฯ นอกจากนี้กิจกรรมเหล่านี้ยังมีประโยชน์ช่วยกระชับความสัมพันธ์ในครอบครัวอีกด้วย
2. ให้มีกิจกรรมทางกายเป็นประจำ
การมีกิจกรรมทางกายจะช่วยทำให้สมองยังคงมีการประสานการทำงานกันในแต่ละส่วนอยู่เสมอ กิจกรรมทางกายที่ควรทำเป็นประจำเช่น การออกกำลังกายหรือการให้ทำกิจวัตรประจำวันบางอย่างด้วยตนเอง การที่ผู้สูงอายุค่อย ๆลดกิจกรรมทางกายลงจะทำให้ร่างกายค่อย ๆลดปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลงทีละน้อย ท้ายที่สุดก็จะเร่งให้ผู้สูงอายุเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมได้เร็วมากขึ้นครับ
3. ให้มีกิจกรรมทางสังคม
การพบปะพูดคุยกับคนในวัยเดียวกันหรือมีกิจกรรมร่วมกันจะทำให้สมองได้รับการกระตุ้นและช่วยชะลอความเสื่อมที่จะเกิดขึ้นกับสมอง
4. มีงานอดิเรกร่วมกัน
งานอดิเรกคือสิ่งที่ช่วยชะลอไม่ให้สมองเสื่อมเร็วมากขึ้น นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของครอบครัวในการทำงานอดิเรกร่วมกันเป็นการสานความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวอีกด้วย
5. ปรับสิ่งแวดล้อมที่บ้านให้ปลอดภัย
อุบัติเหตุหลายอย่างที่คาดไม่ถึงมักเกิดขึ้นในบ้าน การเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝันก็มีส่วนทำให้เร่งการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุครับ เพราะบางกรณีเื่อเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวน้อยลง กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและหลายรายมักจะจบลงที่การกลายเป้นผู้ป่วยสมองเสื่อมไปในที่สุด ยิ่งผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงลืมหรือมีภาวะสมองเสื่อมยิ่งต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมากยิ่งขึ้น
6. อาหารบำรุงสมอง
อาหารก็มีส่วนสำคัญต่อการชะลอความเสื่อมของสมองครับ ผลการวิจัยหลายงานวิจัยบ่งชี้ว่ามีสารอาหารที่จำเป็นและช่วยบำรุงสมองรวมถึงชะลอควา่มเสื่อมของสมองอยู่หลายชนิดครับ คุณสามารถเลือกทานอาหารที่เป็นประโยชน์นี้ได้จากมื้ออาหารประจำวันของคุณหรืออาจจะใช้อาหารเสริมช่วยบำรุงสมองก้ได้เช่นกัน
ภาวะสมองเสื่อมอาจฟังดูน่ากลัว แต่หากเรารู้จักและทำความเข้าใจกับมัน จริง ๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดครับ เพราะเราสามารถป้องกันหรือชะลอความเสื่อมของสมองได้ หรือหากมีใครในครอบครัวที่มีภาวะสมองเสื่อมเราก็สามารถช่วยเหลือและชะลอความเสื่อมให้เกิดขึ้นช้าที่สุดได้ครับ เพียงแค่ทุกคนในครอบครัวเข้าใจและช่วยเหลือกัน ทุกคนก็จะอยู่กับภาวะสมองเสื่อมได้อย่างมีความสุข
ติดตามสาระดี ๆผ่านช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

[…] แถมยังช่วยชะลอภาวะสมองเสื่อมได้อีกด้วย […]
[…] ยิ่งอายุมากความจำก็ยิ่งแย่ หลงลืมง่าย เรียนรู้ช้ากว่าสมัยหนุ่มสาว […]