ไม่มีใครอยากแก่แต่ก็ไม่อาจหนีพ้น: 9 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อความสูงวัยมาเยือน

9 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อความสูงวัยมาเยือน

“แก่” เป็นดั่งคำแสลงที่ไม่มีใครอยากได้ยิน การที่ใครสักคนถูกเรียกว่าคนแก่หรือผู้สูงอายุ แม้ฟังดูจะน่าเคารพด้วยวัยวุฒิที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาโชกโชน แต่กระนั้นผู้ที่โดนเรียกก็อาจจะรู้สึกจั๊กกะจี๋หัวใจอยู่ไม่น้อยครับ ความสูงวัยนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงแค่การเป็นผู้มากประสบการณ์ชีวิตเท่านั้น แต่ยังมีความหมายถึงผู้ที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เสื่อมถอยไปตามกาลเวลาเช่นกัน ในบทความนี้เราจะมาดูกันครับว่าวันหนึ่งวันใดเมื่อเราเข้าสู่ภาวะสูงวัย 9 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อความสูงวัยมาเยือนจะมีอะไรบ้าง

ริ้วรอยประสบการณ์ชีวิตคือสิ่งแรกที่ปรากฎออกมาให้เห็น

ลักษณะทางกายภาพคือสิ่งแรก ๆที่เราจะเห็นได้ครับว่าคน ๆนั้นเริ่มเข้าสู่วัยชราแล้วหรือยัง ไม่ว่าจะเป็น สีผม ริ้วรอยต่าง ๆ หรือโครงสร้างของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุบางรายอาจหลังค่อม บางรายมีปัญหาเดินเหินไม่สะดวก ต้องพึ่งพาไม้เท้าเพราะการทรงตัวไม่ค่อยจะดี เหล่านี้คือระดับทางกายภาพที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดด้วยตาเปล่า

9 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อความสูงวัยมาเยือน สิ่งเหล่านี้คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยชรา

1. การมองเห็น

การมองเห็นน่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบแรก ๆที่เราจะรู้สึกได้ไวกว่าระบบอื่น ๆความเปลี่ยนแปลงแรกก็คือหนังตาจะเริ่มตกและมาบดบังการมองเห็นทำให้มองอะไรก็ไม่ถนัดเหมือนเดิม แก้วตากับเลนส์ตาคือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงเป็นลำดับถัดมา ในผู้สูงอายุทั้ง 2 ส่วนนี้จะขุ่นมัวฝ้าฟางลง ทำให้ทัศนวิสัยในการมองยิ่งลดลงไปอีก นอกจากนี้บางรายจะมีภาวะตาแห้งแต่บางรายกลายเป็นน้ำตาไหลแทบจะตลอดเวลาซึ่งก็ไม่ใช่ว่าพวกเขากำลังเศร้าโศกเสียใจแต่เหตุเพราะต่อมน้ำตาและท่อน้ำตาเริ่มเสื่อมถอยนั่นเอง

2. ผิวหนัง

อายุที่มากขึ้นทำให้ผิวหนังถึงดูบางลง แต่ไม่ใช่เพราะใช้ครีมบำรุงนะครับ เหตุที่ผิวหนังที่บางลงมาจากความยืดหยุ่นลดลงจากเซลล์ผิวหนังที่ลดลง พอเซลล์ผิวหนังลดลง บรรดาต่อมไขมันใต้ผิวหนังก็ทำงานได้ไม่เป็นปกติ ทำให้ผิวหนังบางและเหี่ยวย่น และยังแห้งง่ายมาก ยิ่งแห้งก็ยิ่งคัน ยิ่งคันก็ยิ่งเกา ผู้สูงอายุจึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อทางผิวหนังได้ง่ายกว่าคนในวัยหนุ่มสาว

นอกจากเซลล์ผิวหนังและต่อมไขมันไม่ค่อยจะดีแล้ว เส้นเลือดข้างใต้ผิวหนังก็เปราะง่ายอีกเช่นกัน ผู้สูงอายุบางรายแค่เดินชนอะไรนิดหน่อยก็มีรอบเขียวเป็นจ้ำ ๆไปหลายวัน

3. ระบบประสาท

เมื่อสูงอายุอีกระบบที่เริ่มเสื่อมถอยก็คือระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นขนาดสมอง จำนวนเซลล์สมองเซลล์ประสาทจะลดลงกว่า ยิ่งอายุมากความจำก็ยิ่งแย่ หลงลืมง่าย เรียนรู้ช้ากว่าสมัยหนุ่มสาว จึงไม่แปลกที่ผู้สูงอายุมักจะไม่ค่อยทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีต่าง ๆ นอกจากนี้ปฏิกิริยาตอบสนองหลาย ๆ อย่างก็ลดลง หกล้มง่าย หรือหลบสิ่งที่พุ่งเข้ามาชนไม่ทัน ดังนั้นยิ่งอายุมากยิ่งไม่ควรทำกิจกรรมที่ต้องตัดสินใจหรือใช้ปฏิกิริยาตอบสนองที่รวดเร็ว เช่น การขับรถ เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ บางรายนอนไม่ค่อยหลับ ถ้าตื่นแล้วก็ไม่อาจข่มตาหลับได้อีกเพราะแบบแผนในการนอนเปลี่ยนไปจากเดิม

4. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

ยิ่งอายุมากมวลกระดูกก็ยิ่งลดลงมาก ทำให้เสี่ยงที่กระดูกจะหักได้ง่าย นอกจากมวลกระดูกจะลดลงแล้ว ความยาวของกระดูกสันหลังก็ลดลง เนื้อเยื่อรอบ ๆกระดูกสันหลังเสียความยืดหยุ่น หากปล่อยให้อยู่ในท่านั่งที่ไม่ดีก็มีโอกาสหลังค่อมได้ครับ

อย่าได้แปลกใจที่คุณจะรู้สึกว่าทำไมยิ่งอายุมากกำลังวังชายิ่งลดลง เพราะขนาดของกล้ามเนื้อและเส้นใยกล้ามเนื้อลดลงนั่นเอง เมื่อกล้ามเนื้อเล็กลงซ้ำเส้นในกบ้ามเนื้อก็น้อย ประสิทธิภาพในการทำงานก็ย่อมจะลดลง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมคุณจึงรู้สึกไม่กระฉับกระเฉงเหมือนสมัยยังหนุ่มสาวครับ

5. ระบบหัวใจและหลอดเลือด

หัวใจของเราเป็นอวัยวะที่ไม่เคยหยุดพักการทำงานเลย แต่เมื่อเรามีอายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานย่อมลดลง การบีบตัวก็ลดลง ทำให้หัวใจพยายามบีบตัวมากขึ้น ผนังหัวใจจะมีความหนาขึ้นเรื่อย ๆ ผนังหัวใจที่หนาตัวขึ้นนี้ จะทำให้ช่องว่างหรือที่เรียกว่าห้องหัวใจมีพื้นที่น้อยลงและทำให้แรงบีบส่งเลือดลดลง มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ทำให้เกิด “ลิ่มเลือด” ตกค้าง และมีโอกาสหลุดไปอุดตันส่วนต่าง ๆ ของร่างกายครับ ในขณะที่หลอดเลือดจะสูญเสียความยืดหยุ่น ผู้สูงอายุจึงมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดเปราะและแตกได้ง่าย

6. ระบบหายใจ

การทำงานของปอดที่ลดลงจึงทำให้ผู้สูงอายุเหนื่อยง่ายกว่าปกติ การทำงานที่ลดลงเกิดจากทั้งการขยายตัวของปอดที่ไม่ดีและกล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจไม่แข็งแรง ยิ่งถ้าหากใครสูบบุหรี่จัดก็จะยิ่งเร่งการทำลายตัวถุงลมในปอดมากยิ่งขึ้น กิจกรรมที่เคยทำได้ในอดีต เมื่ออายุมากขึ้นจะรู้สึกเหนื่อยง่ายกว่าแต่ก่อน แม้กระทั่งการเดินก็จะไม่ทนเหมือนสมัยหนุ่มสาว นอกจากนี้การทำงานของฝาปิดกล่องเสียงจะลดลง ทำให้มีโอกาสสำลักได้ง่ายถ้าไม่ระวัง ผู้สูงอายุที่สำลักบ่อย ๆ มีโอกาสที่จะเกิดภาวะปอดติดเชื้อหรืออันตรายจากเศษอาหารลงไปอุดตันในหลอดลม

7. ระบบทางเดินอาหาร

นอกจากฟันจะไม่ดีทำให้เคี้ยวอาหารยาก สิ่งที่กินเข้าไปจะตกค้างอยู่ในกระเพาะอาหารนานขึ้น จึงมีโอกาสเกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ง่าย นอกจากจะกินลำบากแล้ว การขับถ่ายก็ลำบากเพราะการทำงานของลำไส้ลดลง จึงไม่ต้องแปลกใจว่าผู้สูงอายุอาจเกิดภาวะท้องผูกได้ง่ายแม้จะทานผักผลไม้แล้วก็ตาม

ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือความอยากอาหารลดลง การผลิตน้ำลายและเอนไซม์ลดลง การกระหายน้ำก็ลดลงตามไปด้วย

8. ทางเดินปัสสาวะ

ในผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะขัด ไม่สุด ในขณะที่กระเพาะปัสสาวะจะเล็กลง ทำให้ผู้สูงอายุทั้งผู้หญิงและผู้ชายหลายคนปัสสาวะบ่อยมาก ยิ่งไปกว่านั้นกล้ามเนื้อที่อุ้งเชิงกรานจะหย่อนตัวลง ทำให้หลาย ๆ คนกลั้นปัสสาวะไม่ค่อยได้ บางคนจึงเกิดอาการปัสสาวะเล็ดได้ง่าย

9. การได้ยินลดลง

ความเสื่อมที่เกิดขึ้นจะทำให้แก้วหูสูญเสียความยืดหยุ่น การได้ยินจะลดลง จนมีคำพูดติดตลกว่า “ยิ่งแก่อะไร ๆ ก็หย่อนลง จะมีแต่หูที่ตึงขึ้น” กระดูกในหูจะแข็งขึ้นทำให้การส่งผ่านความถี่เสียงแย่ลง ยิ่งหากมีภาวะขี้หูอุดตันยิ่งทำให้การได้ยินยิ่งลดลงไปอีก ทำให้ต้องพึ่งพาหูเทียมหรือเครื่องช่วยฟังมาทดแทน

ความเสื่อมถอยของร่างกายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ แม้ฟังดูน่ากลัวแต่ความเสื่อมที่เกิดขึ้นเราสามารถชะลอมันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์ เพราะว่าคุณภาพชีวิตที่ดี ความสามารถในการดูแลช่วยเหลือตนเองและการมีชีวิตอยู่อย่างมีความสุข ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บนั้นมีความสำคัญกับเรามากกว่าอายุที่เป็นเพียงตัวเลขครับ แม้ว่าจะมีอายุมากถึง 70-80 ปี แต่ถ้าหากมีสุขภาพแข็งแรงก็ย่อมดีกว่าคนที่อายุเพียง 30-40 ปี แต่ร่างกายอ่อนแอและขี้โรค คุณว่าจริงไหม?

ติดตามข้อมูลดี ๆทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

9 ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อความสูงวัยมาเยือน

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here