การเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุ: เตรียมอย่างไรให้ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้

การเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุ

เพราะความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุจึงทำให้ห้องน้ำเป็นสถานที่ที่มีความอันตรายลำดับต้น ๆ ของผู้สูงอายุครับ ทั้งจากความลื่นของพื้นเมื่อเปียกน้ำและความคับแคบที่ทำให้การขยับตัวไม่สะดวก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่มักทำจากเซรามิคที่มีโอกาสแตกหักได้ง่ายหรือตามขอบมุมของผลิตภัณฑ์ที่มีความเหลี่ยม ซึ่งสิ่งต่าง ๆเหล่านี้เองล้วนแต่สามารถสร้างอันตรายให้เกิดแก่ผู้สูงอายุได้ทั้งสิ้น สำหรับการเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุ บทความนี้มีคำแนะนำดี ๆมาฝากครับ

การเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุทำอย่างไรให้ปลอดภัย

1. มีราวจับที่จุดสำคัญ

ราวจับควรจะเป็นสิ่งแรกที่คนนึกถึงหากจะต้องติดเครื่องช่วยอะไรสักอย่างในห้องน้ำ ราวจับที่ดีควรมีพื้นผิวที่เรียบ ไม่มีคมและจับกระชับพอดีมือ และควรเลือกติดราวที่จุดสำคัญ ๆ เช่นผนังในห้องน้ำ ข้างอ่างล้างหน้า หรือบริเวณโถสุขภัณฑ์ เป็นต้น

2. ขนาดของห้องน้ำต้องกว้างพอ

ขนาดของห้องน้ำต้องมีความเหมาะสมคือมีความกว้างที่พอเหมาะและไม่คับแคบ ห้องน้ำที่เล็กจนเกินไปจะทำให้ผู้สูงอายุเสี่ยงที่จะหกล้มได้ง่าย เพราะโดยธรรมชาติของผู้สูงอายุต้องการพื้นที่ในการเคลื่อนไหวที่มากกว่าในวัยหนุ่มสาวครับ สืบเนื่องมาจากการทรงตัวที่ไม่ดีเช่นวัยหนุ่มสาว หากผู้สูงอายุรายใดต้องใช้รถเข็นในชีวิตประจำวัน ห้องน้ำก็ต้องกว้างพอที่จะให้รถเข็นเข้าไปได้ครับ โดยมากห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุที่เหมาะสมควรมีขนาดประมาณ 150 x 200 cm

3. ควรใช้ประตูบานเลื่อนแทนประตูบานพับและช่องประตูต้องกว้างมากพอ

ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุควรใช้ประตูชนิดบานเลื่อนที่สามารถเปิดปิดได้สะดวก เพราะประตูแบบบานพับหากผู้สูงอายุปิดหรือเปิดประตูโดยไม่สัมพันธ์กับจังหวะก้าวเดินของตนเองก็อาจเสี่ยงที่จะหกล้มได้ครับ ขณะที่ลูกบิดประตูควรใช้เป็นแบบก้านแทนลูกบิดแบบหมุนเพื่อสะดวกในการใช้งาน และที่สำคัญควรมีช่องกว้างอย่างน้อย 90 cm สำหรับกรณีที่ผู้สูงอายุท่านั้นจำเป็นต้องใช้รถเข็นครับ

4. อ่างล้างหน้าต้องเหมาะสม

อ่างล้างหน้าของผู้สูงอายุควรออกแบบมาให้สามารถรับแรงกดจากการท้าวแขนเพื่อการทรงตัวได้ ฉะนั้นขอบของอ่างต้องมนไม่มีเหลี่ยมและไม่ลื่นมาก ขณะที่อ่างสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็นควรจะเว้าในส่วนหน้าและด้านล่างต้องโล่งเพื่อให้สะดวกในการเข็นรถเข้าชิดขอบอ่าง ในขณะที่ก๊อกน้ำที่เหมาะสมต้องเป็นก๊อกน้ำแบบก้านที่ปิด-เปิดด้วยการโยกทางด้านข้างเพื่อเปิดปิดน้ำแทนการใช้ก๊อกน้ำแบบหมุน

5. โถสุขภัณฑ์มีความสูงที่เหมาะสม

ความสูงของโถสุขภัณฑ์ต้องเหมาะสมกับสรีระของผู้สูงอายุ ต้องอย่าลืมว่าผู้สูงอายุหลายคนมีปัญหาข้อเข่า ถ้าโถสุขภัณฑ์เตี้ยเกินไปก็จะไปเพิ่มปัญหาข้อเข่าได้ โถสุขภัณฑ์ที่ดีจึงควรมีความสูงประมาณ 42.5-45 cm และควรติดพนักท้าวแขนแบบพับได้ไว้ข้างโถเพื่อความสะดวกในการใช้ และเพื่อใช้ในการยันตัวเพื่อลุกขึ้นยืน พนักท้าวแขนจึงต้องแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวได้

6. มีที่นั่งอาบน้ำ

ที่นั่งอาบน้ำมีความจำเป็นและสำคัญต่อผู้สูงอายุเช่นกัน การนั่งอาบน้ำย่อมปลอดภัยมากกว่าการยืนอาบน้ำ เพราะผู้สูงอายุหลายคนมีการทรงตัวที่ไม่ดีเช่นเดิม การยืนอาบน้ำจะเสี่ยงต่อการหกล้ม ความสูงที่เหมาะสมอยู่ที่ 42.5-45 cm และควรติดราวไว้เพื่อช่วยในการลุกขึ้นยืน

7. ติดตั้งฝักบัวให้เหมาะสมกับการใช้งาน

ฝักบัวที่เหมาะสมต้องสามารถปรับระดับได้และแรงดันน้ำต้องต่ำ ความสูงต้องพอเหมาะเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องเอื้อม เช่นเดียวกับตำแหน่งของก๊อกเปิดปิดฝักบัวต้องอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมกับสรีระและที่สำคัญต้องไม่เอื้อมเพื่อเปิดปิดก๊อกน้ำเช่นเดียวกัน ขณะที่ก๊อกน้ำควรใช้แบบชนิดก้านเช่นเดียวกับจุดอื่น ๆ

8. พื้นห้องน้ำต้องไม่ลื่น

พื้นห้องน้ำก็มีความสำคัญมาก โดยวัสดุที่ใช้ปูพื้นต้องเป็นชนิดที่ไม่ลื่น เพื่อป้องกันการหกล้มหรือเกิดอุบัติเหตุ และอาจปูแผ่นกันลื่นเพื่อช่วยเสริมความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุอีกชั้นหนึ่ง หากจำเป็นต้องมีผ้าเช็ดเท้าก็ควรจะเลือกชนิดที่ไม่ลื่นหรือติดกาว 2 หน้าเพื่อเพิ่มการยึดเกาะพื้นและป้องกันการลื่น

9. พื้นห้องน้ำจะต้องเท่ากันตลอด

พื้นห้องน้ำและพื้นด้านนอกต้องเท่ากันเพื่อความสะดวกในกรณีที่ต้องใช้รถเข็น และไม่ควรมีที่กั้นน้ำเพราะอาจทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้ แต่ควรใช้ตะแกรงกั้นน้ำเพื่อแบ่งส่วนเปียกและส่วนแห้งออกจากกัน

10. แสงสว่างต้องเหมาะสม

ไฟในห้องน้ำที่เหมาะสมควรเป็นไฟที่ให้แสงสว่างโทนสีขาวจะดีกว่าโทนสีแบบอื่น ๆ เพราะผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาในการมองเห็น แสงไฟที่สลัวเกินไปจะทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นไม่ดีและเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้

11. หัวฉีดชำระต้องไม่แข็ง

หัวฉีดชำระที่แข็งเกินไปจะทำให้ผู้สูงอายุต้องออกแรงบีบมากขึ้น ซึ่งมีโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ปัจจุบันมีฝาชักโครกซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อให้มีระบบชำระล้างอัตโนมัติเพียงอาศัยแค่การกดปุ่มเท่านั้น นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุครับ

12. ทุกอย่างต้องอยู่ในระดับสายตา

ตู้ใส่ของภายในห้องน้ำควรติดตั้งให้อยู่ในระดับสายตาหรือสูงกว่าเพียงเล็กน้อย เพื่อหลีกเลี่ยงการก้มหรือการเอื้อม การวางตำแหน่งของสิ่งของก็มีความสำคัญ สิ่งของที่ใช้บ่อยควรวางอยู่ในตำแหน่งที่หยิบจับได้ง่ายเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

13. มีปุ่มสัญญาณขอความช่วยเหลือ

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ควรมีปุ่มกดขอความช่วยเหลือติดตัวคุณตาคุณยายในกรณีฉุกเฉิน หากเป็นไปได้ควรใช้เป็นรีโมทกันน้ำและให้ผู้สูงอายุพกติดตัวเอาไว้จะปลอดภัยและสะดวกในกรณีที่ต้องการความช่วยเหลือ

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือสิ่งที่จำเป็นในการสร้างหรือปรับปรุงห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุเพื่อความสะดวกสบายในการใช้งานและคำนึงถึงความปลอดภัยของท่าน เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องที่ไม่คาดคิด ฉะนั้นการป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นทางเลือกที่ดีและเหมาะสมเพื่อคนที่เราเคารพรักครับ

ติดตามข้อมูลดี ๆทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

การเตรียมห้องน้ำผู้สูงอายุ

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here