จะทำอย่างไร เมื่อที่บ้านมีผู้ป่วยนอนติดเตียง: 9 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียง

9 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียง

การเจ็บป่วยเป็นอีกภาวะที่ไม่มีใครอยากให้ขึ้นทั้งกับตัวเองและคนในครอบครัวครับ แต่เราก็ไม่อาจเลี่ยงการเจ็บป่วยได้ การเจ็บป่วยมีหลายประเภทครับตั้งแต่เบา ๆที่คุณอาจรู้สึกไม่สบายอยู่ไม่กี่วันก็หายป่วยเป็นปกติไปจนถึงอาการหนักจนกระทั่งท้ายที่สุดอาจเสียชีวิตจากโรคร้ายที่เกิดขึ้น แต่มีความเจ็บป่วยอีกประเภทครับที่สร้างความทุกข์ใจทั้งกับผู้ป่วยเองและคนในครอบครัวไม่น้อย เพราะผู้ป่วยประเภทนี้ไม่อาจช่วยเหลือตัวเองได้อีกต่อไปและกลายเป็นภาระใหญ่ของครอบครัว ผู้ป่วยประเภทนี้ถูกเรียกว่า “ผู้ป่วยติดเตียง”นั่นเอง หากที่บ้านของคุณมีผู้ป่วยติดเตียงอาศัยอยู่ด้วยคุณควรจะทำอย่างไรบ้าง บทความนี้9 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงมาแนะนำครับ

ผู้ป่วยติดเตียงมีกี่ประเภท

ผู้ป่วยติดเตียงมี 2 ประเภทใหญ่เมื่อแบ่งตามการรู้สึกตัวคือ

– ผู้ป่วยติดเตียงที่สูญเสียการรู้สึกตัว ผู้ป่วยประเภทนี้จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลยและต้องพึ่งพาการดูแลช่วยเหลือจากผู้อื่น 100% ซึ่งผู้ป่วยประเภทนี้เราจะรู้จักกันดีว่าเป็น “เจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา” ครับ

– ผู้ป่วยติดเตียงที่ยังรู้สึกตัวเองดีอยู่แต่ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ป่วยประเภทนี้แม้การรับความรู้สึกจะครบถ้วนสมบูรณ์ดีทุกอย่าง แต่ด้วยภาวะของโรคบางชนิดก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้หรืออาจจะขยับได้น้อย ผู้ป่วยประเภทนี้ก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้อื่นเช่นกัน

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง

สาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องตกอยู่ในสภาพของผู้ป่วยติดเตียงมักเกิดจากความผิดปกติในการเคลื่อนไหวครับ ซึ่งก็มักจะเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดเช่นภาวะของโรคหลอดเลือดสมองหรือการบาดเจ็บอย่างรุนแรงที่ประสาทไขสันหลังซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหวไป แต่กระนั้นก็ยังอาจมาจากสาเหตุของโรคเรื้อรังบางชนิดที่ส่งผลให้ผู้ป่วยกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังอาจมาจากสภาพจิตใจของผู้ป่วยเองที่ไม่ต้องการทำอะไรเลยและพัฒนาจนกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงไปในที่สุดครับ

9 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงเพื่อให้ผู้ป่วยติดเตียงเหล่านั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

เพื่อความสุขความสบายของผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะติดเตียง คนในครอบครัวสามารถช่วยเหลือและทำให้ผู้ป่วยได้รับความสบายมากที่สุดดังต่อไปนี้

1. สถานที่

สถานที่ที่ให้ผู้ป่วยติดเตียงพักอาศัยมีความสำคัญมากครับ ซึ่งนอกเหนือไปจากปัจจัยด้านสุขลักษณะเช่นมีอากาศถ่ายเทสะดวก มีการรักษาความสะอาดที่ดี อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ “จะต้องสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้อย่างสะดวก” เพราะการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียงมีความสำคัญมากหากเกิดกรณีฉุกเฉินต่าง ๆขึ้นครับ นอกจากนี้ญาติก็ควรจะติดเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินต่าง ๆไว้ในที่ที่สะดวกแก่การมองเห็นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงทีเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉินขึ้นมาจริง ๆ

2. เตียงนอน

เตียงนอนควรมีความสูงที่พอดีกับผู้ที่ต้องให้ความช่วยเหลือหรือผู้ดูแลผู้ป่วยครับ เพราะเตียงที่สูงหรือเตี้ยเกินไปนอกจากจะทำให้การดูแลผู้ป่วยเกิดความยากลำบากก็ยังอาจเกิดอันตรายได้ทั้งกับตัวของผู้ป่วยและคนดูแลได้ ขณะเดียวกันหากผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวได้เลยญาติควรใช้ที่นอนลมปูที่เตียงก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลกดทับและควรหมั่นพลิกตัวผู้ป่วยทุก ๆ 2 ชั่วโมงครับ

3. การรับประทานอาหาร

เพราะผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างปกติ รวมถึงผู้ป่วยบางรายอยู่ในภาวะที่สูญเสียการรับรู้ดังนั้นการรับประทานอาหารจึงมักจะอยู่บนเตียงเป็นส่วนใหญ่ ข้อพึงระวังในการรับประทานอาหารบนเตียงก็คือไม่ควรให้ผู้ป่วยนอนราบหัวต่ำขณะรับประทานอาหารหรือฟีดอาหาร เพราะอาจเกิดการสำลักอาหารหรือมีอาหารหลุดลงไปในหลอดลมจนเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยได้ ดังนั้นก่อนที่จะให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารควรปรับหัวเตียงให้สูงและจัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่ง และหากผู้ป่วยรายใดที่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้บ้างก็ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งห้อยขาข้างเตียงครับ และหลังจากรับประทานอาหารเสร็จควรให้ผู้ป่วยได้นั่งพักไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงโดยห้ามไม่ให้ผู้ป่วยนอนราบทันทีหลังทานอาหารเพราะอาจเกิดการสำลักอาหารได้เช่นกัน

4. การขับถ่าย

สุขภาวะที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ หากผู้ป่วยติดเตียงรายใดจำเป็นต้องสวมใส่ผ้าอ้อมก็ควรสังเกตช่วงเวลาที่ผู้ป่วยปัสสาวะหรืออุจจาระว่ามักจะเกิดในช่วงเวลาใด เพื่อที่จะได้ทำการเปลี่ยนผ้าอ้อมและทำความสะอาดร่างกายได้ทันท่วงทีครับ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยนอนจมสิ่งปฏิกูลของตัวเองเด็ดขาด เพราะนอกจากจะสื่อถึงสุขอนามัยที่ไม่ดีก็ยังมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเจ็บป่วยได้ครับ นอกจากนี้ในรายที่ต้องใส่สายสวนปัสสาวะก็ควรหมั่นสังเกตสีของปัสสาวะรวมถึงสีของสายสวนว่าขุ่นหรือมีสิ่งปกติหรือไม่ หากพบความผิดปกติก็ควรพาผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์ทันทีครับ นอกจากนี้ญาติควรพาผู้ป่วยติดเตียงไปเปลี่ยนสายสวนตามที่แพทย์นัดอย่างเคร่งครัด ไม่ควรเปลี่ยนสายสวนเองเด้ดขาดเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ครับ

5. การทำความสะอาดร่างกาย

การทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วยติดเตียงก็มีความสำคัญ ญาติสามารถเช็ดทำความสะอาดร่างกายของผู้ป่วยได้ครับ โดยอาจเช็ดตัวทุกวันหรือวันเว้นวันได้ตามความเหมาะสมของตัวผู้ป่วยเอง

6.ถ้าผู้ป่วยเจาะคอเพื่อช่วยระบายเสมหะ

หากผู้ป่วยติดเตียงมีการเจาะคอเพื่อระบายเสมหะ ภาวะแทรกซ้อนที่ต้องระวังก็คือการอุดตันของท่อที่จะไปขัดขวางการหายใจของผู้ป่วย สำหรับตัวท่อด้านในนั้นญาติสามารถถอดออกเพื่อนำไปล้างได้ตามคำแนะนำของแพทย์ครับ ซึ่งการถอดท่อนั้นจะต้องล้างให้สะอาดและลวกน้ำร้อนเพื่อฆ่าเชื้อโรคทุกครั้งก่อนที่จะใส่กลับไปให้ผู้ป่วย การถอดท่อด้านในออกมาล้างก็เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวท่อเกิดการอุดตันนั่นเอง

บางกรณีผู้ป่วยที่มีเสมหะมากอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการดูดเสมหะด้วยเครื่องดูดเสมหะ ญาติหรือผู้ดูแลสามารถช่วยดูดเสมหะได้ แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งและวิธีการที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด

7. ดูแลโภชนาการ

ไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยติดเตียงมีภาวะน้ำหนักเกินเพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวลำบากยิ่งกว่าเดิม การที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักมากเกินไปยังสร้างความลำบากให้แก่ผู้ดูแลช่วยเหลือจนอาจเกิดอันตรายได้ในระหว่างการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ญาติจำเป็นต้องเรียนรู้วิะีการคำนวณแคลอรีที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยติดเตียงครับ

8. แม้จะติดเตียงก็ยังคงต้องออกกำลัง

แม้ผู้ป่วยติดเตียงจะไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างสะดวก แต่การออกกำลังกายก็ยังคงจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีภาวะติดเตียงครับ เพราะนอกจากจะทำให้ผู้ป่วยแข็งแรง ข้อไม่ติดเส้นไม่ยึดแล้ว การเคลื่อนไหวร่างกายโดยออกจากท่านอนบ้างจะทำให้ปอดของผู้ป่วยขยายตัวได้ดีขึ้น หากญาติไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงให้ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของผผู้ป่วย ญาติสามารถปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อให้คำแนะนำการออกกำลังกายในผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้อย่างถูกวิธีครับ

9. อย่าลืมดูแลจิตใจ

ผู้ป่วยติดเตียงส่วนใหญ่ต้องการกำลังใจนอกเหนือไปจากการดูแลทางด้านร่างกายครับ การละเลยการดูแลด้านจิตใจจะทำให้ผู้ป่วยติดเตียงเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า ดังนั้นสมาชิกในครอบครัวจึงควรหมุนเวียนมาให้กำลังใจหรือมาร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วย เพื่อให้พวกเขายังรู้สึกว่าตนเองยังมีความสำคัญต่อครอบครัวอยู่ อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยต้องรู้สึกโดดเดี่ยวและอ้างว้างเด็ดขาด เพราะกำลังใจที่จะทำให้ผู้ป่วยสามารถต่อสู้กับความเจ็บป่วยได้ดีที่สุดมาจากคนในครอบครัวเป็นหลักครับ

คำแนะนำทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราอยากแนะนำในกรณีที่ครอบครัวใดมีผู้ป่วยติดเตียงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวครับ พึงระลึกไว้เสมอว่าการดูแลด้านร่างกายต้องกระทำควบคู่ไปกับการดูแลด้านจิตใจเสมอ แล้วผู้ป่วยติดเตียงเหล่านั้นจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อย่างมีความสัุขแม้จะมีความเจ็บป่วยเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้พวกเขากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงก็ตาม

ติดตามสาระดี ๆผ่านช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

9 วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียง

2 ความคิดเห็น

  1. […]                แม้ผู้สูงอายุหลายรายจะสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ดีจนดูเหมือนกับว่าบางรายจะแข็งแรงกว่าเพื่อน ๆในวัยเดียวกัน แต่ขึ้นชื่อว่าอุบัติเหตุก็ยังถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้สูงอายุครับ เพราะความผิดพลาดเพียงครั้งเดียวก็อาจเปลี่ยนสถานะของผู้สูงอายุจากที่เป็นคนแข็งแรงให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้ครับ สิ่งที่ลูกหลานต้องไม่ลืมก็คือความเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นในร่างกายของผู้สูงอายุมักจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุภายในบ้านได้ครับ เช่นสายตาที่ฟ้าฟางลงในความมืด หรือปฏิกิริยาการทรงตัวที่ไม่เท่าคนในวัยหนุ่มสาว และสิ่งที่สำคัญที่สุดที่ลูกหลานมักคาดไม่ถึงคือผู้สูงอายุหลายรายมักมีภาวะกระดูกพรุนแฝงอยู่โดยไม่แสดงอาการให้เห็นครับ เมื่อเกิดอุบัติเหตุจนนำไปสู่การหกล้มจึงเป็นสาเหตุของภาวะกระดูกหักที่มาบั่นทอนคุรภาพชีวิตของผุ้สูงอายุหลาย ๆท่านลงไปครับ ดังนั้นแม้ผู้สูงอายุจะดูแข็งแรงเพียงใด ก็อย่าละเลยความปลอดภัยในเรื่องนี้เด็ดขาดครับ […]

  2. […] อุบัติเหตุหลายอย่างที่คาดไม่ถึงมักเกิดขึ้นในบ้าน การเกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดฝันก็มีส่วนทำให้เร่งการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้โดยเฉพาะในผู้สูงอายุครับ เพราะบางกรณีเื่อเกิดอุบัติเหตุเกิดขึ้นทำให้ผู้สูงอายุเคลื่อนไหวน้อยลง กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงและหลายรายมักจะจบลงที่การกลายเป้นผู้ป่วยสมองเสื่อมไปในที่สุด  ยิ่งผู้สูงอายุที่เริ่มมีอาการหลงลืมหรือมีภาวะสมองเสื่อมยิ่งต้องใส่ใจสิ่งแวดล้อมภายในบ้านมากยิ่งขึ้น […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here