หลังผ่านฤดูร้อนอันแสนอบอ้าวที่มาพร้อมกับความร้อนแรงของอากาศและความแห้งแล้งในบางพื้นที่ก็เข้าสู่ฤดูฝนที่ใครหลายคนเฝ้ารอคอยครับ เพราะสายฝนเปรียบประดุจดั่งความชุ่มชื้น ความมีชีวิตชีวาที่จะเข้ามาแทนที่ฤดูร้อนอันแสนอ้างว้าง สำหรับเกษตรกรฤดูนี้ก็คือฤดูริเริ่มการเพาะปลูกและความอุดมสมบูรณ์ตามท้องทุ่งครับ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าฤดูฝนจะนำพามาแต่สิ่งดี ๆ เข้ามาเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเพราะนอกจากความอุดมสมบูรณ์ที่มาพร้อมกับสายฝนโปรยก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่แอบแฝงซุกซ่อนตัวมากับช่วงฤดูฝนนี้เช่นกัน สิ่งนั้นก็คือโรคภัยไข้เจ็บประจำฤดูฝนครับ ในบทความนี้เราจะมาเตือนภัยกันสักเล็กน้อยเกี่ยวกับ6 โรคที่มาพร้อมกับสายฝน ทั้ง 6 โรคมีอะไรบ้างเราจะมาดูไปพร้อมกันครับ
6 โรคที่มาพร้อมกับสายฝนที่ต้องระวังในยามที่ฝนมาเยือน
1. โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง
โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดงมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำตาและขี้ตาครับ โรคนี้สามารถติดต่อได้ทุกเพศทุกวัยไม่เฉพาะแต่กับเด็ก ๆเท่านั้น โดยสามารถติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดหรือการใช้สิ่งของร่วมกัน และยังสามารถเกิดได้จากการใช้น้ำที่ไม่สะอาด มีเชื้อปนเปื้อนนำมาล้างหน้าหรือนำมาอาบน้ำ นอกจากนี้ก็อาจเกิดได้จากการถูกน้ำสกปรกที่มีเชื้อกระเด็นเข้าตาได้เช่นกัน โดยอาการที่มักพบคือเกิดการอักเสบที่เยื่อคลุมตาขาวทำให้เกิดการระคายเคือง อักเสบและแดงครับ อาการเหล่านี้จะปรากฏอยู่ราว ๆ1-2 สัปดาห์ วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือให้รีบล้างตาทันทีที่มีน้ำสกปรกกระเด็นใส่ ไม่ควรใช้สิ่งของเช่นผ้าเช็ดหน้าร่วมกับบุคคลอื่นโดยเฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคตาแดง รวมถึงไม่ควรใช้มือขยี้ตาหรือจับบริเวณดวงตาครับ
2. โรคน้ำกัดเท้า
โรคน้ำกัดเท้ามักมีสาเหตุมาจากเชื้อรา โดยมักเกิดขึ้นกับผิวหนังที่สัมผัสความชื้นอยู่เป็นประจำเช่นการเดินลุยน้ำสกปรกที่ท่วมขังหรือการทำงานในพื้นที่ที่เปียกชื้นอยู่ตลอดเวลา อาการที่มักพบได้บ่อยคือมักมีผื่นที่มีลักษณะเป็นขอบนูนวงกลมขึ้นมาตามซอกนิ้วเท้าร่วมกับอาการแดงบริเวณผิวหนังรอบ ๆซึ่งผื่นเหล่านี้จะทำให้เกิดอาการคันจนหลายคนทนไม่ไหว และเมื่อเกาที่ผื่นก็อาจทำให้แผลแตกมีน้ำเหลืองเยิ้มและลุกลามไปบริเวณใกล้เคียงได้ครับ สำหรับวิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำขังหรือหากต้องทำงานในพื้นที่น้ำขังก็ควรจะหารองเท้าบูทมาใส่และให้รีบล้างเท้าและเช็ดเท้าให้แห้งทุกครั้งเมื่อมีความจำเป็นต้องเดินลุยน้ำครับ
3. โรคทางเดินอาหารเฉียบพลัน
โรคทางเดินอาหารเฉียบพลันที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนก็คือ โรคอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษครับ และมีบ้างที่อาจพบโรคในกลุ่มของบิด ไทฟอยด์และตับอักเสบ สาเหตุของโรคทางเดินอาหารเฉียบพลันอย่างอุจจาระร่วงและอาหารเป็นพิษมักเกิดจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อก่อโรคเช่นเชื้ออีโคไลเป็นต้น นอกจากนี้อาจเกิดจากการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ และการนำน้ำที่ไม่สะอาดมาประกอบอาหารเช่นกัน โดยอาการที่พบได้บ่อยคือผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีอาการปวดมวนท้อง บางรายอาจมีอาการไข้ร่วมด้วยหรืออาจมีอาการอาเจียนได้เช่นกัน หากเชื้อนั้นเป็นเชื้อบิดก็อาจพบมูกเลือดปนออกมากับอุจจาระได้ครับ วิธีการป้องกันโรคในกลุ่มนี้ที่ดีที่สุดคือการระมัดระวังในเรื่องการรับประทานอาหารที่ต้องทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ และควรใช้ช้อนกลางเมื่อต้องทานอาหารร่วมกับคนอื่น ไม่ควรรับประทานอาหารที่ตั้งทิ้งไว้นานจนเย็นเพราะอาจเสี่ยงที่จะทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตจนทำให้เป็นโรคนี้ได้ครับ
4. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
โรคติดเชื้อทางเดินหายใจเป็นอีกกลุ่มโรคที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนครับ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆโรคนี้มักเกิดจากการที่ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันไม่ดีจากสาเหตุเช่นการพักผ่อนไม่เพียงพอ ซึ่งเมื่อพบเจออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงและเชื้อโรคที่ชอบอุณหภูมิเช่นนี้ก็ทำให้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ สำหรับอาการที่พบบ่อยคือมีอาการไข้ ไอ จามและมีน้ำมูกไหลออกมาร่วมกับอาการอ่อนเพลีย โดยมากอาการป่วยเหล่านี้มักจะหายได้เองใน 1-2 สัปดาห์แต่หากผู้ป่วยรายใดมีไข้สูงหรือหายใจเหนื่อยหอบให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาครับ เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นปอดอักเสบได้ วิธีการป้องกันโรคนี้คือการทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอรวมถึงการพักผ่อนให้เพียงพอ และการสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือผ้าปิดปากปิดจมูกเมื่อต้องออกนอกบ้านก็สามารถป้องกันโรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้ครับ
5. โรคไข้เลือดออก
โรคไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนี้ก็เป็นอีกโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนครับ เพราะน้ำที่ท่วมขังจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นพาหะของโรคนี้ได้เป็นอย่างดี สำหรับอาการที่พบคือผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉลี่ย 38.5-41 องศาเซลเซียสติดต่อกัน 2-7 วัน บางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับอาการปวดท้อง อาเจียน เบื่ออาหารและมักพบจุดสีแดงเล็ก ๆขึ้นตามลำตัวโดยเฉพาะบริเวณข้อพับของร่างกาย ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงเมื่อไข้ลดลงอาการจะค่อย ๆดีขึ้นแต่ในรายที่รุนแรงอาจเกิดภาวะช็อคได้ครับ วิธีการป้องกันคือหมั่นตรวจตราและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและหากพบว่ามีใครในบ้านที่มีอาการไข้สูงติดต่อกันหลายวันให้รีบพาไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา นอกจากนี้ไม่ควรใช้ยาแอสไพรินในการลดไข้เพราะอาจทำให้เลือดออกง่ายขึ้น
6. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนูเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในปัสสาวะของหนูหรือสัตว์ฟันแทะ โดยเมื่อสัตว์เหล่านั้นปัสสาวะโดยมีเชื้อออกมาด้วย เชื้อจะอยู่ตามพื้นดินและกระจายตัวได้ดีเมื่อมีน้ำท่วมขัง เชื้อโรคฉี่หนูสามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลและรอยขีดข่วนครับ โดยอาการที่แสดงหลังรับเชื้อคือมีไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะและมักปวดกล้ามเนื้อน่องและโคนขาอย่างรุนแรง มักพบอาการตาแดงและคอแข็งร่วมด้วย โดยอาการไข้จะมีสลับกับช่วงเวลาที่ไข้ลดติดต่อกันหลายวัน ในรายที่รุนแรงอาจทำให้เกิดภาวะตับวาย ไตวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ครับ สำหรับการป้องกันโรคฉี่หนูที่ดีที่สุดคือการหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง หรือหากจำเป็นก็ควรใส่รองเท้าบูทและล้างเท้าให้สะอาดและเช็ดให้แห้งทันทีที่เลิกเดินลุยน้ำ หากมีอาการดังที่กล่าวมาข้างต้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุดครับ
ทั้ง 6 โรคนี้คือโรคที่มักพบได้บ่อยในช่วงฤดูฝนครับ การเรียนรู้ถึงโรคที่เกิดขึ้นพร้อมกับการมาถึงของฤดูฝนก็เพื่อให้คุณสามารถเตรียมตัวและป้องกันไม่ให้ตนเองตกอยู่ในความเสี่ยงของการเป็นโรคเหล่านี้ซึ่งแน่นอนครับว่าขึ้นชื่อว่าโรคก็ล้วนแต่บั่นทอนสุขภาพกายของคุณทั้งสิ้น นอกจากนี้ก็ยังอาจทำให้คุณสเสียการงานที่กำลังทำอยู่ได้เช่นกัน ดังนั้นการป้องกันไว้ก่อนที่จะมานั่งแก้ไขจึงน่าจะเป็นวิธีป้องกันตัวเองได้ดีที่สุดครับ
ติดตามข้อมูลดี ๆทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ
