อาการปวดหลัง เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อย พบได้ตั้งแต่อาการปวดเมื่อยทั่วไป ที่มักเกิดจากพฤติกรรม ไปจนถึงอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันและสร้างความทรมานให้แก่ผู้ป่วยไม่น้อย หนุ่มสาวชาวออฟฟิศหลายคนมักจะคิดว่าเกิดจากสาเหตุนั่งทำงานมากเกินไป หรือเคลื่อนไหวผิดท่า หากเมื่อใดที่รู้สึกไม่สบายตัว มีอาการปวดร้าวลงไปที่สะโพกหรือขา หรือปวดติดต่อกันนานเกินกว่า 3 เดือน นี่อาจบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายบางอย่างที่เกิดขึ้นกับร่างกาย มาเช็คกันว่า อาการปวดหลังแบบไหน บอกโรคอะไรได้บ้าง
อาการปวดหลังเกิดจากอะไร เกิดขึ้นกับใครบ้าง
อาการปวดหลังเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เกิดได้กับทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยทำงานและในผู้สูงอายุ โดยทั่วไปอาการปวดหลังมักเกิดจากโรคของกล้ามเนื้อหรือกระดูกสันหลัง มีอาการปวดตั้งแต่บั้นเอวขึ้นไป อาจมีแค่อาการปวดเมื่อย ไปจนถึงปวดอยู่ตลอดเวลา มีสาเหตุจาก
- ท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่ถูกต้องเป็นนาน พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน โดยเฉพาะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน นั่งหลังงอ ไหล่ห่อ ก้มคอเข้าใกล้จอมากเกินไป หรือแม้แต่ความสูงของโต๊ะกับเก้าอี้ที่ไม่สมดุลกัน อาชีพที่มีการยกของหนักอยู่เป็นประจำ แถมยังทำผิดท่า ส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังโดยเฉพาะบริเวณหลังส่วนล่าง สามารถลามไปถึงบริเวณก้นกบ
- ได้รับบาดเจ็บบริเวณหลัง จากการเคลื่อนไหวผิดจังหวะ อุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬาที่มีการกระแทกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กระดูกสันหลังเสื่อมเร็ว
- ความผิดปกติของโครงกระดูก เช่น ความผิดปกติของกระดูกสันหลังแต่กำเนิด กระดูกสันหลังโค้งผิดปกติ
อาการปวดหลังเรื้อรังบอกโรคอะไรได้บ้าง
- โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
โรคนี้สามารถพบได้ตั้งแต่กลุ่มวัยทำงานอายุ 25-50 ปี และกลุ่มผู้สูงวัยอายุ 50 ปีขึ้นไป เกิดการเสื่อมสภาพตำแหน่งหมอนรองกระดูก สาเหตุที่พบได้บ่อยในปัจจุบันเกิดจาก การยกของหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องซ้ำๆ บ่อยๆ นั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานานๆ อาชีพที่ต้องขับรถนานๆ ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ผู้ที่มีภาวะอ้วน อาการปวดหลังร้าวลงสะโพก ขา จนถึงบริเวณน่องหรือเท้า อาจมีอาการชา กล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย เวลาไอ จาม จะรู้สึกปวดลึก เนื่องจากเกิดแรงดันในไขสันหลัง บางคนนั่งนานไม่ได้ ยืนนานไม่ได้ หรืออาจจะเดินได้ไม่กี่ก้าวก็จะรู้สึกปวดจนต้องหยุดเดิน
- โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อต่อกระดูกสันหลังเสื่อม
มักพบทั่วไปในผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมตามธรรมชาติของร่างกาย รวมถึงพฤติกรรมที่ทำซ้ำๆ เป็นประจำ ทำให้เกิดการล้า เสื่อมสภาพ และอักเสบ นำไปสู่อาการปวดเรื้อรัง หรือที่เรียกว่าอาการออฟฟิศซินโดรม แม้แต่การสะพายกระเป๋าหนักๆ เพียงข้างเดียวเป็นเวลานาน จนก่อให้เกิดแรงกด ข้อต่อเกิดเสื่อมลงมากจนทรุดตัว การสวมรองเท้าส้นสูง ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อหลังและสะโพกต้องทำงานหนักขึ้น อาการของกระดูกสันหลังเสื่อม มักเกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจเริ่มจากอาการปวดคอ หรือปวดหลังซึ่งอาจเป็นๆ หายๆ ก้มหลังได้ไม่สุด ขยับตัวลำบาก
- วัณโรคกระดูกสันหลัง
เป็นการติดเชื้อที่พบได้ค่อนข้างบ่อย เป็นเชื้อชนิดเดียวกันกับวัณโรคปอด ถ้าร่างกายแข็งแรงก็สามารถกำจัดเชื้อได้ แต่ถ้าไม่ เชื้อก็จะแฝงตัวตามจุดต่างๆ โดยเชื้อจะเข้าไปทำลายกระดูกและหมอนรองกระดูก ทำให้กระดูกทรุดตัวลง หลังโก่งงอ ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อมาโดยไม่รู้ตัวและไม่มีอาการทางปอด แต่มีอาการปวดหลังไม่ทราบสาเหตุ มักมีไข้ตอนกลางคืน หากเชื้อเข้าสู่ไขสันหลัง อาจส่งผลให้เป็นอัมพาตบางส่วน
- โรคเนื้องอกในกระดูกสันหลัง
อีกหนึ่งสาเหตุของอาการปวดหลังเรื้อรัง ที่หลายคนนึกไม่ถึง! มักจะปวดตอนกลางคืน รู้สึกทรมานจนทำให้นอนไม่หลับ รบกวนการใช้ชีวิตและกระทบต่อสภาพจิตใจเช่นกัน มีอาการปวดต้นคอ ปวดร้าวลงแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้าง รวมถึงปวดเวลายกแขน อาจมีอาการชาร่วมด้วย ปวดร้าวตามชายโครง รู้สึกชาตั้งแต่ช่วงลำตัวลงไป ปวดเอวร้าวลงไปยังขา หรืออาจมีอาการอ่อนแรง ปวดหลังเวลาเดิน และอาจมีปัญหาระบบขับถ่ายร่วมด้วย
- โรคกระดูกพรุน
ภาวะที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดลง โครงสร้างกระดูกมีการเสื่อมสลาย ส่งผลให้กระดูกเปราะ หักง่ายกว่าคนทั่วไป โรคกระดูกพรุนมักพบได้ในผู้ที่มีอายุ 50 ปี ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการปรับสมดุลต่างๆ ของร่างกาย จึงเริ่มสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ที่พบได้คือ อาการปวดหลัง เกิดจากกระดูกบางมาเป็นเวลานาน หลังโก่งค่อม เนื่องจากมีการยุบตัวของกระดูกสันหลัง อาจมีอาการร้าวมาที่บริเวณหน้าอกร่วมด้วย
- โรคบางชนิดหรืออาจเกิดจากอวัยวะของร่างกายส่วนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับกับหลัง
หลายคนอาจเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการปวดหลัง มักคิดว่าเป็นสัญญาณของโรคไต ความจริงแล้วไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป หากพบว่ามีอาการปวดเหนือบั้นเอวทั้งสองข้าง มักจะมีอาการปวดท้องร่วมด้วย อาจเกิดจากความผิดปกติภายใน เช่น โรคไต โรคนิ่วในถุงน้ำดี โรคเกี่ยวกับรังไข่และมดลูก ซึ่งไม่เกี่ยวกับหลังโดยตรง
- กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน
โรคนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับกระดูกสันหลังโดยตรง แต่เกิดจากภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน บริเวณหลังส่วนล่าง ซึ่งทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของลำตัวช่วงบนทั้งหมด เป็นกล้ามเนื้อสำคัญในเคลื่อนไหว มักจะเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี มีอาการปวดเกร็ง ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง แต่ไม่มีอาการปวดร้าวลงขา
อาการเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของอาการปวดหลัง ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากมีอาการปวดหลังเรื้อรัง ไม่สามารถหาสาเหตุได้ อย่านิ่งนอนใจ ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจโดยละเอียด เพราะนี่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่างที่คุณคาดไม่ถึงได้
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
