ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐตอนที่ 2: ทำความรู้จักประเภทหนี้ก็จะง่ายต่อการจัดการ

ประเภทหนี้

“รู้เขารู้เรารบ 100 ครั้งก็ชนะทั้ง 100 ครั้ง” วลีนี้เป็นวลีที่มาจากตำราพิชัยสงครามในสมัยโบราณครับ ความหมายที่แท้จริงของวลีนี้ก็คือไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม หากเราเข้าใจต่อสิ่งที่เรากำลังจะกระทำอยู่ เราจะไม่มีวันประสบความล้มเหลวอย่างแน่นอน คำจำกัดความของวลีนี้ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่การนำไปใช้ในเรื่องของการแข่งขันเท่านั้น แต่เราสามารถนำไปใช้ได้ในทุก ๆเรื่องที่เราต้องการจะจัดการครับ เพียงแค่เราเข้าใจในเรื่องที่เรากำลังเผชิญหน้าเราจะมีวิธีการบริหารจัดการสถานการณ์ต่าง ๆได้อย่างเหมาะสม นี่คือความหมายที่แท้จริงของวลีนี้ ในการบริหารจัดการหนี้สินของเราก็เช่นกัน หากเรารู้และเข้าใจว่าหนี้สินของเราเป็นหนี้ประเภทไหน เราจะมีวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับหนี้แต่ละประเภทครับ หนี้แต่ละประเภทมีอะไรบ้าง และเราจะจัดการหนี้แต่ละประเภทให้เหมาะสมอย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำมาฝากครับ

ประเภทหนี้ 4 ประเภทที่ควรรู้ ลองตรวจสอบหนี้ที่คุณมีว่าเข้าข่ายอยู่ในประเภทไหน

1. หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้

หนี้ประเภทแรกสุดคือ “หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้” ครับ หนี้ประเภทนี้คือหนี้ที่คุณก่อขึ้นเพื่อนำไปเป็นต้นทุนในการสร้างรายได้ต่อ หรือถ้าให้เรียกง่าย ๆคือเป็นหนี้ที่คุณสร้างเพื่อนำไปต่อยอดกิจการงาน ธุรกิจหรืออาชีพของคุณนั่นเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่เรามักจะรับรู้กันว่าลูกหนี้ในกลุ่มนี้ก็คือบรรดาเจ้าของกิจการไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ที่มักจะกู้เงินจากสถาบันการเงินหรือการออกเป็นหุ้นกู้เพื่อระดมทุนเพื่อนำไปขยายกิจการครับ หรืออาจจะเป็นเจ้าของกิจการเล็ก ๆ อย่าง SMEs ที่ต้องการกู้เงินเพื่อนำไปสร้างธุรกิจก็ได้เช่นกัน หรือบางครั้งก็อาจจะเป็นบุคคลทั่วไปที่ต้องการเงินทุนไปริเริ่มกิจการเล็ก ๆเช่นการเปิดร้านอาหาร ร้านค้าออนไลน์เป็นต้น ขอให้การกู้เงินก่อหนี้นั้นทำไปเพื่อนำไปต่อยอดสร้างรายได้ต่อก็ล้วนแล้วแต่จัดอยู่ในหนี้กลุ่มนี้ทั้งสิ้นครับ และก็ไม่เว้นแม้แต่กระทั่งการขอสินเชื่อเพื่อซื้อรถยนต์ รถมอเตอร์ไซด์เพื่อนำไปประกอบอาชีพเช่นนำไปเป็นรถแท็กซี่ รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือนำไปให้บริการขนส่งสินค้า อาหารเดลิเวอรี่ รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า หากคุณคิดจะก่อหนี้ชนิดนี้สิ่งแรกที่คุณจำเป็นต้องมีคือแผนธุรกิจที่จะเป็นตัวช่วยประเมินว่าหนี้ที่คุณกำลังจะก่อนั้นมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนกลับมามากน้อยเพียงใด นอกจากนี้แผนธุรกิจนี้ก็มักจะเป็นหนึ่งในเอกสารสำคัญที่สถาบันการเงินต้องการจากคุณเมื่อคุณคิดจะทำเรื่องขอสินเชื่อครับ หลักพิจารณาง่าย ๆว่าคุณสมควรก่อหนี้ชนิดนี้หรือไม่คือการประเมินโอกาสอย่างตรงไปตรงมาว่ารายได้ที่คุณคาดการณ์ว่าจะได้จากกิจการหรืองานของคุณนั้นมีมากน้อยเพียงใด ซึ่งรายได้นั้นเมื่อหักลบจากยอดหนี้ที่คุณต้องชำระและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วต้องเหลือเป็นกำไรมากพอที่คุณจะเก็บไว้ต่อยอดกิจการหรือเป็นทุนสำรองของกิจการต่อไปได้ หากคุณประเมินแล้วเป็นเช่นนี้คุณก็สามารถก่อหนี้ชนิดนี้ได้ครับ แต่หากประเมินแล้วไม่คุ้มค่าหรือมีกำไรเท่าใดก็ต้องเอาไปจ่ายหนี้เกือบทั้งหมดอย่างนี้คุณก็ไม่ควรก่อหนี้ขึ้นมาครับ เพราะนอกจากจะเสียเวลาเสียแรงกายไปเปล่า ๆ หากเดือนใดที่ยอดขายไม่ตรงไปตามเป้าก็อาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตัวของคุณได้

2. หนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

หนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่คนส่วนมากมักจะก่อขึ้นครับ ตัวอย่างของหนี้ที่ก่อขึ้นเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตได้แก่ หนี้เพื่อการศึกษาหรือที่รู้จักกันในชื่อของกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย ซึ่งเหตุผลหลักของการก่อหนี้ก็เพื่อการขยับขยายและทำให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น เช่นการย้ายที่อยู่อาศัยไปยังบริเวณที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้น หรือเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางไปทำงาน หรือไปโรงเรียนของบุตรหลาน นอกจากนี้ก็อาจนับรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์เป็นหนี้ประเภทนี้ได้เช่นกัน หากการซื้อรถยนต์นั้นก่อให้เกิดความสะดวกสบายและทำให้คุณภาพชีวิตของตนเองดีขึ้น เกณฑ์การพิจารณาง่าย ๆว่าคุณสมควรก่อหนี้ประเภทนี้หรือไม่ก็คือกำลังที่จะชำระหนี้คืนในอนาคตครับ เพราะมูลหนี้ประเภทนี้มักจะมีมูลหนี้ที่ค่อนข้างสูงและใช้เวลาชำระคืนยาวนานหลายปี ซึ่งหากคุณมีรายได้ต่อเดือนที่สูงและเป็นรายได้ที่แน่นอนต่อเนื่องไปจนถึงเวลาที่คุณชำระหนี้ได้หมด คุณก็สามารถที่จะก่อหนี้ชนิดนี้ได้ครับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ตัดสินได้ว่าคุณสมควรจะก่อหนี้ประเภทนี้ไหม คนกลุ่มนี้ก็คือฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินครับ ดังนั้นคุณจำเป็นต้องส่งเอกสารทางการเงินของคุณอย่างตรงไปตรงมาในการยื่นขอสินเชื่อกับสถาบันทางการเงิน หากคุณไม่ได้ยื่นหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา แม้ว่าคุณจะสามารถขอสินเชื่อได้อย่างที่คุณต้องการแต่คุณก็อาจมีปัญหาในการชำระหนี้คืนในอนาคตได้ครับ

3. หนี้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

หนี้ชนิดนี้มักจะมาพร้อมอุปกรณ์ทางการเงินที่เรียกว่า “บัตรเครดิตและบัตรกดเงินสด” ครับ ซึ่งอุปกรณ์ทางการเงินนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกสบายและทำให้คุณมีอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ซึ่งเรามักจะได้เห็นกันบ่อย ๆว่าคนส่วนมากมักใช้บัตรเครดิตนี้ชำระค่าสินค้าทั้งทางออฟไลน์ตามห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ตรวมไปถึงการชำระค่าสินค้าและบริการออนไลน์ต่าง ๆ หนี้ชนิดนี้ยังจัดเป็นหนึ่งในมูลหนี้ที่มีประโยชน์ครับ เพราะช่วยให้คุณมีกระแสเงินสดสำรองไว้เพื่อการใช้จ่ายอย่างอื่นก่อนที่จะถึงยอดบิลเรียกเก็บเงินจากบัตรเครดิต นอกจากนี้บัตรเครดิตหลายประเภทก็มักจะมีสิทธิประโยชน์ต่าง ๆที่น่าสนใจและช่วยให้คุณประหยัดเงินไปได้หลายอย่างครับไม่ว่าจะเป็นแต้มแลกของรางวัล แลกส่วนลด สิทธิประโยชน์ในเรื่องของการ Cash back รวมไปถึงบัตรบางชนิดก็มีส่วนลดในกลุ่มสินค้าพิเศษที่ตรงตามไลฟ์สไตล์ของคุณ แม้หนี้ชนิดนี้จะยังถือเป็นหนี้ที่เป็นประโยชน์แต่กระนั้นหากคุณคิดจะก่อหนี้ชนิดนี้คุณจำเป็นต้องรักษาวินัยทางการเงินอย่างเข้มงวดครับ เพราะถึงอย่างไรก็ยังจัดว่าบัตรเครดิตคือการยืมเงินในอนาคตมาใช้จ่ายก่อน หากคุณเพลิดเพลินหรือใช้เงินมือเติบโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาจากหนี้ที่ก่อแล้วเกิดประโยชน์ก็อาจจะกลายเป็นโทษที่สร้างความเดือดร้อนแก่คุณได้เช่นกัน ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือการจำกัดวงเงินก่อหนี้บัตรเครดิตด้วยตัวคุณเองว่าในแต่ละเดือนคุณจะใช้บัตรเครดิตด้วยวงเงินเท่าใด หรือสำรวจค่าใช้จ่ายรายเดือนแล้วใช้วงเงินบัตรเครดิตเท่ากับรายจ่ายในแต่ละเดือน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยป้องกันการก่อหนี้เกินตัวได้ครับ

4. หนี้ฟุ่มเฟือย

หนี้ประเภทนี้เป็นหนี้ที่ไม่มีประโยชน์มากที่สุดในบรรดาหนี้ทั้ง 4 ประเภทที่กล่าวมาแล้วครับ ประโยชน์อย่างเดียวที่หนี้ชนิดนี้มีคือ “การให้ความสุขทางใจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” และหนี้ชนิดนี้ก็มักจะมาในรูปของบัตรเครดิตและบัตรกดเงินสดเช่นเดียวกับหนี้ประเภทก่อนหน้านี้ เพียงแต่วัตถุประสงค์ในการก่อหนี้นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ในบางครั้งเราอาจเรียกมูลหนี้ประเภทนี้ว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากการขาดการยับยั้งชั่งใจและการไม่มีวินัยทางการเงินครับ จริงอยู่ที่ว่าการให้รางวัลชีวิตกับตนเองเป็นสิ่งที่ดีและเพื่อเป็นการตอบแทนตัวเองจากความเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน แต่กระนั้นการไม่รู้จักประมาณตนเองก็คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้คุณมีหนี้ชนิดนี้ท่วมหัวจนไม่อาจชำระหนี้ได้ในที่สุด วิธีการจัดการหนี้ประเภทนี้แท้จริงนั้นง่ายกว่าหนี้ประเภทอื่นมากครับ เพียงแค่คุณมีวินัยทางการเงินและรู้จักการยับยั้งชั่งใจ หนี้ประเภทนี้ก็จะไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับคุณอย่างแน่นอน

ทั้ง 4 ประเภทนี้คือประเภทหนี้ทั้งหมดที่คนส่วนใหญ่มักก่อมูลหนี้ขึ้นมาครับ การแบ่งประเภทหนี้นี้อาศัยหลักเกณฑ์ของเหตุผลสำคัญในการก่อหนี้เท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วเมื่อคุณรู้ว่าคุณมีเหตุผลใดในการก่อหนี้ขึ้นมา คุณจะสามารถจัดการกับหนี้สินที่คุณมีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและจะเป็นเกราะป้องกันการผิดนัดชำระหนี้ให้แก่คุรได้อย่างดีครับ ดังนั้นหากคุณกำลังคิดจะก่อหนี้ ลองถามตัวเองดูสักนิดว่าหนี้ที่คุณกำลังจะสร้างเป็นหนี้ประเภทใดใน 4 ประเภทนี้ บางครั้งคำตอบที่ออกมาก้อาจจะทำให้คุณเปลี่ยนใจที่จะไม่สร้างหนี้ก็เป็นได้

ติดตามข้อมูลดี ๆทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

<<ตอนที่ 1 // ตอนที่ 3 >>

ประเภทหนี้

4 ความคิดเห็น

  1. […] “หนี้สิน” คือรายจ่ายประจำที่จะติดตัวและเป็นภาระของคุณไปจนกว่าคุณจะชำระหนี้ก้อนนั้นได้หมดครับ เมื่อใดที่คุณก่อหนี้ขึ้นมาแล้วคุณจะมีรายจ่าย “ประจำที่แน่นอน” เกิดขึ้นในทันที แต่สำหรับในช่วงเศรษฐกิจผันผวนและเต็มไปด้วยเครื่องหมายคำถามเช่นนี้ คุณอาจไม่มีทางคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตล่วงหน้าได้โดยเฉพาะในเรื่องของรายได้ในอนาคตว่าจะได้รับผลกระทบหรือไม่ หากคุณกำลังมีแพลนว่าจะต้องก่อหนี้ที่ต้องผูกพันในระยะยาวในช่วงนี้ คุณอาจจะต้องทบทวนแผนการนี้อีกครั้งและชะลอการก่อหนี้ออกไปก่อนเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนกว่านี้แล้วจึงค่อยพิจารณาถึงการสร้างหนี้อีกครั้งก็ยังไม่สายครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here