การเป็นหนี้ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย หากแต่ว่าสิ่งเลวร้ายที่แท้จริงเมื่อเป็นหนี้แล้วก็คือ “ความผิดพลาดในการบริหารจัดการการเงินส่วนบุคคลของคุณ”ต่างหากที่ถือเป็นเรื่องเลวร้ายที่จะมาซ้ำเติมภาระหนี้สินของคุณให้เลวร้ายมากยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหนี้ก้อนนั้นเป็นหนี้ที่เกิดจากความฟุ่มเฟือยเป็นเหตุและยิ่งคุณยังไม่หยุดพฤติกรรมก่อหนี้ในลักษณะนี้ก็เชื่อเหลือเกินว่าวันหนึ่งคุณจะต้องเจอภาวะหนี้ท่วมหัวอย่างแน่นอน แต่ก็ไม่ใช่ว่าหนี้ประเภทอื่นจะสร้างความเดือดร้อนให้คุณไม่ได้นะครับ หากคุณมีหนี้ประเภทอื่นอยู่แล้วและยังคงไม่ปรับปรุงวินัยทางการเงินให้เหมาะสมกับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นมา แม้หนี้ก้อนนั้นจะไม่ได้เกิดจากความฟุ่มเฟือยของคุณเองคุณก็มีสิทธิ์ที่จะเจอปัญหาในระหว่างการผ่อนชำระหนี้ได้เช่นกันครับ เมื่อเริ่มต้นเป็นหนี้หรือแม้กระทั่งหากคุณมีหนี้อยู่แล้ว ต่อไปนี้คือวิธีการวางแผนบริหารจัดการการเงินที่จะทำให้คุณไม่มีปัญหาการเงินเลยแม้จะมีหนี้ก้อนใหญ่มาค้ำคอคุณอยู่ครับ
6 วิธีบริหารการเงินอย่างไรให้ชีวิตมีความสุขแม้จะมีภาระหนี้ที่ต้องชำระคืน
ก่อนจะไปดูวิธีบริหารจัดการการเงินให้เหมาะสมกับการเป็นหนี้ ทางผู้เขียนก็ต้องขออนุญาตออกตัวเช่นเคยครับว่าวิธีการเหบ่านี้เป็นวิธีการที่ผู้เขียนลองศึกษาค้นคว้ามาด้วยตนเองและลองทำตามวิธีการดังกล่าวจนได้แนวทางที่อยากจะนำมาแบ่งปันต่ออีกทอดหนึ่งครับ วิธีการจัดการการเงินที่ทางผู้เขียนและครอบครัวใช้มีดังต่อไปนี้
1. บริหารการเงินให้ดี วางแผนให้สมดุลทั้งเงินเข้าและเงินออก
การบริหารจัดการการเงินตั้งแต่แรกเริ่มที่คุณรู้ว่ากำลังจะมีภาระหนี้จะช่วยให้คุณรู้ว่าในแต่ละเดือนคุณจะบริหารรายรับและรายจ่ายอย่างไรให้สมดุลและไม่ขัดสนช่วงปลายเดือน วิธีการคลาสสิคที่สุดและไม่ควรมองข้ามในการบริหารจัดการการเงินให้มีประสิทธิภาพคือการทำ “บัญชีรายรับรายจ่าย” เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าในแต่ละเดือนคุณมีเงินเข้ามาเท่าไหร่และมีรายจ่ายอะไรบ้างที่จะทำให้เงินหายออกไปจากกระเป๋าของคุณ การทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายจนเป็นนิสัยนอกจากจะทำให้คุณสามารถจัดการบริหารการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ยังมีส่วนช่วยให้คุณตัดสินใจว่าจะก่อหนี้ได้มากสุดเท่าไหร่ เพราะเมื่อคุณรู้รายได้ที่แน่นอนและรายจ่ายที่ตายตัวคุณจะรู้ทันทีว่าคุณมีกำลังความสามารถเท่าไหร่ครับที่จะชำระหนี้โดยที่ไม่ทำให้คุณเดือดร้อนหากคุณคิดจะก่อหนี้ขึ้นมาสักก้อนหนึ่ง
2. จงอย่าพยายามก่อหนี้ซ้ำซ้อนขึ้นมาอย่างเด็ดขาดแม้มูลหนี้ก้อนใหม่จะมีขนาดที่เล็กแค่ไหนก็ตาม
เมื่อใดก็ตามที่คุณมีหนี้ตายตัวที่จะต้องชำระคืน ข้อหนึ่งที่คุณต้องพึงระลึกไว้เสมอและจงปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดก็คือ “อย่าได้ก่อหนี้เพิ่มอีกเด็ดขาด แม้หนี้ก้อนใหม่จะเป็นหนี้ก้อนเล็ก ๆหรือสามารถแบ่งชำระได้ก็ตาม” ยิ่งหากคุณมีรายได้ประจำที่ไม่ได้มากและหนี้ประจำของคุณทำให้การเงินของคุณค่อนข้างตึง เพราะการก่อหนี้ซ้ำซ้อนก็อาจทำให้วินัยการเงินของคุณพังทะลายได้เลย จำไว้ครับเมื่อคุณเริ่มต้นก่อหนี้เล็ก ๆซ้ำซ้อนขึ้นมาก้อนแรกเมื่อใด ก็ย่อมจะต้องมีก้อนเล็กก้อนต่อ ๆไปตามขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน และยิ่งโดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่การก่อหนี้เพิ่มนั้นง่ายแสนง่ายด้วยกับดักของคำว่า “ผ่อน 0% ตามระยะเวลาที่กำหนด” ซึ่งจะทำให้คุณกลายสภาพเป็นราชาเงินผ่อนโดยที่คุณไม่รู้ตัวและเมื่อคุณเริ่มรู้สึกตัวคุณก็จะกลายเป็นหนูติดจั่นที่ติดกับดักของหนี้สินไปแล้ว วิธีการที่ดีที่สุดเมื่อคุณมีหนี้ประจำที่ต้องชำระคืนก็คือให้พยายามใช้เงินสดในการซื้อสินค้าต่าง ๆเพราะเมื่อใดที่คุณเปลี่ยนสภาพจากการซื้อเงินผ่อนมาเป็นเงินสดจะทำให้คุณรู้ได้ทันทีครับว่าคุณมีกำลังที่จะซื้อเท่าไหร่ และเมื่อคุณประเมินแล้วว่าคุณไม่มีกำลังในการซื้อมากพอก็อาจทำให้คุณเปลี่ยนใจล้มเลิกการซื้อสินค้านั้นหรือเปลี่ยนเป็นชนิดหรือรุ่นที่ถูกลงก็ได้ครับ
3. เป็นหนี้แล้วไม่ได้หมายความว่าจะต้องนำรายได้มาตามชำระหนี้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นหนี้แล้วคุณก็สามารถมีเงินออมได้
ถ้าการมีหนี้ไม่ว่าจะเป็นหนี้ประเภทใดก็ตามคือความเสี่ยงในชีวิตของคุณ การมีเงินออมก็คือการสร้างหลักประกันในชีวิตให้กับคุณในอีกวิธีหนึ่งครับ ดังนั้นไม่ว่าคุณจะมีก้อนหนี้ใหญ่แค่ไหนก็ตาม หากคุณมีการวางแผนบริหารจัดการเงินที่ดีมากพอและมีวินัยทางการเงินที่แข็งแกร่ง คุณก็สามารถมีเงินออมที่จะมาเป็นหลักประกันความมั่นคงในชีวิตให้แก่คุณได้ครับ และเมื่อใดที่เงินออมของคุณโตมากพอคุณก็สามารถที่จะนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนหรือนำไปต่อยอดสร้างความมั่นคงเพิ่มให้แก่คุณได้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้คุณมีเงินออมเงินเก็บได้ก็คือการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงและไม่ก่อหนี้ซ้ำซ้อนที่จะทำให้คุณต้องเพิ่มรายจ่ายขึ้นมา เมื่อใดก็ตามที่คุณหักรายจ่ายประจำเช่นเงินในการดำรงชีพในแต่ละเดือนและยอดหนี้ที่คุณต้องชำระคืนออกไปได้ เงินในส่วนที่เหลือก็คือเงินออม เงินเก็บของคุณครับ
4. ยิ่งเป็นหนี้คุณยิ่งต้องมีเงินก้อนที่เรียกว่า “เงินสำรองฉุกเฉิน” เพื่อเป็นหลักประกันความไม่แน่นอนในอนาคต
คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดและคิดว่าเงินออม เงินเก็บและเงินสำรองฉุกเฉินเป็นเงินก้อนเดียวกัน แต่แท้ที่จริงแล้วเงินทั้ง 2 ก้อนนี้ควรเป็นเงินคนละก้อนครับ เพราะเงินทั้ง 2 ก้อนนี้มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันในการใช้งาน โดยหากเงินออมคือเงินที่คุณเก็บสะสมเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงให้แก่ตัวเอง เงินก้อนฉุกเฉินก็ควรจะมีเพื่อวัตถุประสงค์ในการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่มั่นคงในอนาคตครับ เช่นการเจ็บป่วยอย่างกะทันหันหรือการตกงาน ดังนั้นคุณจะต้องแยกเงิน 2 ก้อนนี้ให้ชัดเจน มีหลักการคิดที่ทางผู้เขียนเองก็ได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเงินสำรองฉุกเฉินที่น่าสนใจคือ “ควรจะมีเงินก้อนสำรองฉุกเฉินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือนเป็นจำนวนที่เท่ากับจำนวนเดือนที่คุณจะอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อนหากตคุณต้องตกงาน” ซึ่งจำนวนเดือนนั้นคือสิ่งที่คุณต้องกำหนดเอาเอง การจะเก็บเงินก้อนนี้ให้อยู่คุณต้องทำเสมือนว่าคุณไม่มีเงินก้อนนี้อยู่กับตัวเองเพื่อที่จะได้ไม่นำเอาออกมาใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์ครับ
5. เมื่อเงินรายได้ประจำเข้ามาปุ๊บ คุณต้องจัดการบริหารแยกเป็นส่วน ๆ ทันที
เมื่อเงินรายได้ประจำเช่นเงินเดือนหรือเงินรายได้จากอาชีพของคุณเข้ามาในบัญชีเงินฝากของคุณ สิ่งแรกที่คุณควรจะทำก็คือการแบ่งส่วนของรายได้ที่เข้ามาเป็นส่วน ๆตามวัตถุประสงค์ที่คุณตั้งไว้ทันที อย่านำเงินนั้นไปใช้จ่ายก่อนที่จะวางแผนเด็ดขาด มิเช่นนั้นคุณจะไม่เหลือเงินเก็บ เงินออมและเงินก้อนชำระหนี้สินครับ ส่วนรายละเอียดของเงินแต่ละก้อนว่าคุณจะแบ่งออกมาอย่างไร และแบ่งเงินก้อนไหนออกมาก่อนจะขอยกไปพูดถึงในบทความต่อ ๆไปครับ
6. หนี้คือรายจ่ายประจำ หากคุณไม่อยากลำบากหรือขัดสนจงหาทางเพิ่มพูนรายได้ให้มากขึ้นกว่ารายได้ประจำ
ทุกคนรู้ว่าหนี้คือรายจ่ายประจำที่ตายตัวเช่นเดียวกับรายจ่ายในเรื่องของค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนซึ่งหากคุณพิจารณาให้ดีจะพบว่าสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่ว ๆไป คุณมีรายได้ประจำเข้ามาเพียงทางเดียวเท่านั้นในขณะที่รายจ่ายของคุณกระจายออกไปได้หลายทาง และหากวันใดวันหนึ่งเกิดเรื่องไม่คาดฝันก็อาจสร้างปัญหาเดือดร้อนให้แก่คุณได้ ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะช่วยจัดการความเสี่ยงนี้ก็คือการเพิ่มช่องทางการเงินขาเข้าให้มากขึ้นโดยการหารายได้เพิ่มซึ่งจะช่วยเพิ่มสัดส่วนของรายได้ให้มากกว่าที่รับอยู่ประจำครับ วิธีนี้จะช่วยให้คุณลดปัญหาขัดสนหรือการเงินตึงตัวไปได้มากทีเดียว ส่วนรายละเอียดในการหารายได้เพิ่มด้วยวิธีการใดก็จะขอยกไปเล่าให้ฟังในตอนถัด ๆไปครับ
วิธีการทั้ง 6 คือวิธีการที่ผู้เขียนได้พยายามศึกษาและทดลองใช้กับตัวเองจนเห็นผลลัพธ์ว่าช่วยให้สามารถมีความสุขได้แม้จะมีหนี้ก้อนโตรออยู่ก็ตามครับ ซึ่งการจะทำให้วิธีทั้งหมดนี้ได้ผลคุณจำเป็นต้องมีวินัยทางการเงินและมีความหนักแน่นของจิตใจที่จะไม่ละเมิดต่อแผนการจัดการการเงินที่วางเอาไว้อย่างเด็ดขาด พึงระลึกเอาไว้เสมอครับว่าความสุขเพียงชั่วครู่ที่ตามมาด้วยความทุกข์อันแสนสาหัสนั้นเกิดจากการละเมิดต่อวินัยทางการเงินและแผนการจัดการหนี้ที่คุณวางไว้นั่นเอง แล้วพบกันใหม่ในตอนต่อไปของซีรี่ย์ “ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ”ครับ

ติดตามบทความดี ๆทางช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ
[…] 1 // ตอนที่ 3 […]
[…] ตอนที่ 3 // ตอนที่ 5 […]
[…] สำหรับการวางแผนการเงินนี้ ผู้เขียนได้พูดถึงพร้อมกับยกตัวอย่างไปแล้วในบทความก่อน ๆ ครับไม่ว่าจะเป็นวิธีการบริหารการเงินรวมไปถึงการแบ่งสัดส่วนของรายได้ที่เข้ามาเป็นส่วนต่าง ๆ ใครก็ตามที่มีระเบียบการบริหารและวางแผนการเงินที่ดีคน ๆ นั้นย่อมไม่มีทางก่อหนี้อย่างหนี้บัตรเครดิตได้อย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนการใช้เงินคุณควรจัดการและวางแผนการเงินของคุณให้ดี เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของตัวคุณเองครับ […]
[…] “การมีเงินสดหรือทรัพย์สินติดตัว” […]
[…] “การมีเงินสดหรือทรัพย์สินติดตัว” […]
[…] “การมีเงินสดหรือทรัพย์สินติดตัว” […]
[…] “การมีเงินสดหรือทรัพย์สินติดตัว” […]