อยากมีสุขภาพดีต้องทำอย่างไร: 3 พฤติกรรมที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

4
1364
พฤติกรรมที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

               การรักษาสุขภาพนั้น ทำได้ง่ายกว่าการรักษาโรค แต่หลายคนกลับเลือกที่จะไม่ใส่ใจดูแลร่างกาย ไม่ใช้ชีวิตตามที่ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมา เป็นไปได้หรือไม่ว่า เราอาจไม่ต้องเจ็บป่วยก่อนตาย ไม่ต้องเผชิญกับโรคร้ายในช่วงบั้นปลายชีวิต แม้อายุมาก แต่ยังแข็งแรงอยู่ ไม่เป็นภาระใคร โดยอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก และประหยัดที่สุด ถ้าต้องการใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข สุขภาพแข็งแรงในทุกช่วงวัย นี่คือ 3 พฤติกรรมในการใช้ชีวิตที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

3 พฤติกรรมที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

  1. กินให้น้อย

               เรื่องกินนี่ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายๆ คน แค่เริ่มจากคำถามที่ว่า “กินอะไรดี” กลับใช้เวลาคิดค่อนข้างนาน ทั้งๆ ที่มีอาหารให้เลือกมากมาย สุดท้ายคนเราก็เลือกทานในสิ่งที่ชอบ และวนเวียนอยู่แค่นั้น บางคนทานอาหารซ้ำๆ เดิมๆ ติดต่อกัน เสี่ยงที่จะได้รับสารอาหารไม่ครบ บางคนกินทั้งที่ไม่หิว บางคนกินจุบจิบทั้งวัน บางคนไม่สามารถหักห้ามใจตนเองไม่ให้กินแบบไร้สาระได้ พฤติกรรมเหล่านี้เป็นการทำร้ายสุขภาพตัวเองทางอ้อม หนึ่งในสาเหตุของโรคอ้วน และอาจก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา ถ้าให้ย้อนไปถึงวิวัฒนาการการกินมนุษย์มีการปรับเปลี่ยนอาหารที่บริโภคไปเรื่อยๆ จึงมีความสามารถในการปรับตัวเข้ากับอาหารที่ร่างกายรับเข้าไป แต่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคที่อาหารฟาสต์ฟู้ดได้รับความนิยม เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการกินไปทั่วโลก อาหารซึ่งอุดมไปด้วยปริมาณไขมันสูงที่ทำลายสุขภาพ  ร่างกายของเราอาจปรับตัวไม่ทันได้นั่นเอง

               การที่หลายคนมีความสุขกับการกิน ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร หากคำนึงถึงการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ กินให้หลากหลาย เน้นที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ลดหวาน มัน เค็ม และที่สำคัญคือ ควรกินให้น้อยลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าให้อดอาหาร ไม่เช่นนั้นจะมีผลเสียต่อระบบเผาผลาญ เพราะเรากำลังพูดถึงการดูแลสุขภาพในระยะยาว แต่ให้ลดปริมาณ ลดจำนวนมื้อที่ทานลง หรือทิ้งระยะห่างแต่ละมื้อให้นานขึ้นหน่อย ปล่อยให้ท้องหิวบ้าง นิดๆ หน่อยๆ ไม่ถึงขั้นทรมาน และควรทานให้เป็นเวลา  ส่วนวันไหนที่กินหนักจัดบุฟเฟ่ต์ชุดใหญ่ วันถัดไปก็ต้องเบาลง รู้จักปรับสมดุลให้ร่างกาย กินอย่างมีสติ เพื่อสุขภาพที่สตรอง!

2. นอนให้พอ

               การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทุกวันนี้หลายคนมีปัญหาการนอน นอนไม่เป็นเวลา ทำงานจนดึก ดูซีรีย์จนถึงตีสอง ติดโซเชียลมีเดีย แถมยังต้องตื่นแต่เช้า ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ไลฟ์สไตล์แบบนี้ส่งผลกระทบกับสุขภาพของเราอย่างมาก การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเป็นประจำ และคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี เช่น หลับไม่สนิท หลับยาก ตื่นกลางดึก นับเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคซึมเศร้า  โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน และสภาวะทางอารมณ์อีกด้วย

               เมื่อเรานอนเร็วร่างกายจะหลั่งฮอร์โมน Leptin ซึ่งเป็นฮอร์โมนทำให้รู้สึกอิ่ม เพิ่มอัตราการเผาผลาญให้ทำงานได้ดี หากร่างกายนอนหลับไม่เพียงพอ ระดับฮอร์โมน Ghrelin จะเพิ่มขึ้น และระดับ Leptin จะลดลง ทำให้เกิดความหิวและอยากอาหาร จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนนั่นเอง อีกฮอร์โมนที่เป็นตัวช่วยสำคัญของร่างกาย ซึ่งจะหลั่งในช่วงที่เรานอนหลับอย่าง Growth hormone แม้ว่าจะลดลงตามอายุที่มากขึ้น แต่ถ้าร่างกายไม่มีการหลั่งของโกรทฮอร์โมนออกมาเลย จะทำให้ร่างกายเสียสมดุล การอดนอนต่อเนื่องร่างกายจะอ่อนแอลง เนื่องจากระดับโกรทฮอร์โมนที่ลดลงนั่นเอง

               การนอนเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์และเกิดขึ้นทุกคืน ร่างกายมนุษย์ถูกดีไซน์ไว้แล้วว่าต้องใช้ชีวิตกลางวัน นอนกลางคืน สังเกตว่าคนรุ่นก่อนเข้านอนเร็ว นอนเป็นเวลา ร่างกายกลับแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยง่าย เพราะเป็นกระบวนการเพิ่มภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ระบบย่อยอาหารเป็นปกติ ระบบประสาททำหน้าที่ได้เต็มที่ เราควรหันกลับมาให้ความสำคัญกับการนอนหลับได้สนิทในระยะเวลาที่เพียงพอ  เพื่อคุณภาพชีวิตดี ไม่อ้วนง่าย ห่างไกลโรค ยิ่งมีคุณภาพการนอนที่ดี ยิ่งสุขภาพดี!

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

               เรารู้ว่า คุณเองก็รู้! ถึงข้อดีของการออกกำลังกายในหลายด้าน ทั้งต่อร่างกาย จิตใจ กล้ามเนื้อ และระบบภูมิคุ้มกัน แต่ทำไมถึงทำได้ยากเหลือเกิน ไม่มีเวลา ไม่รู้จะเริ่มยังไง ขี้เกียจ ยังไม่พร้อม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม คุณก็ควรออกกำลังกายอยู่ดี ถ้าอยากมีสุขภาพที่แข็งแรง  ไม่ต้องถึงขนาดเข้ายิม เสียค่าคอร์สหลักหมื่น การออกกำลังกายสามารถทำได้ง่ายๆ ทุกวัน อย่างการเดิน วิ่ง ซึ่งไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย แต่ละคนมีเป้าหมายในการออกกำลังกายที่ต่างกัน เลือกที่เหมาะสมตามสภาพร่างกาย วัย และสภาพแวดล้อม ต้องยอมรับว่าช่วงแรกมันไม่ง่าย ให้คำนึงถึงผลลัพธ์ในระยะยาวเป็นหลัก จะได้ไม่รู้สึกท้อ หรือเครียด ทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิต

               ร่างกายมนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีการเคลื่อนไหว เพื่อการเจริญเติบโตและรักษาสภาพการทำงานที่ดีเอาไว้ การออกกำลังกายเพื่อสุขภาพจึงมีประโยชน์และมีความสำคัญมาก ช่วยป้องกันการเกิดโรค เสริมสร้างความแข็งแรงให้หัวใจ ปอด กล้ามเนื้อ เอ็นข้อต่อ กระดูก เพิ่มศักยภาพการทำงานและสร้างสมดุลของระบบร่างกาย การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ เมื่อแก่ตัวลง เราจะไม่เป็นผู้สูงอายุที่ไร้สมรรถภาพ ห่อเหี่ยว หดหู่ แม้จะสูงอายุแล้วก็ยังมีความกระฉับกระเฉง คล่องตัว ไม่เจ็บป่วยง่าย  คนแก่ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยลง ทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลง ข้อต่อต่างๆ จะมีการเสื่อมสภาพ เสี่ยงต่อกระดูกพรุนได้ง่าย  

               ร่างกายของเรา เป็นเรื่องที่เราต้องรับผิดชอบ ไม่ควรผลักภาระให้คนอื่น การดูแลสุขภาพจริงๆ แล้วไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เราทุกคนต่างรู้ว่าอะไรดีต่อตัวเอง อะไรทำแล้วส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทุกวันนี้ไลฟ์สไตล์ของเราเปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลงของสังคม ต้องเริ่มจัดระบบชีวิตใหม่ การรักษาสุขภาพให้ดี ไม่ได้ส่งผลแค่ตัวเราเท่านั้น แต่ยังเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ในแง่ของค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล วัยทำงานที่ต้องแบกภาระค่าใช้จ่าย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และบุคลากรที่ต้องดูแลผู้สูงอายุ แม้อายุ 60 ก็ยังไม่สายที่จะหันมาดูแลร่างกาย เพราะทุกอย่างเริ่มต้นจากความคิด และลงมือทำอย่างจริงจัง

ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

พฤติกรรมที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ
3 พฤติกรรมที่จะทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพ

4 ความคิดเห็น

  1. […] การเริ่มต้นสร้างสุขภาพคุณจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นสะสมเสียตั้งแต่ตอนที่คุณยังมีแรงออกกำลังกายอยู่ เพราะเมื่อคึณอายุมากบางครั้งคุณอาจจะไม่มีพละกำลังมากพอที่จะออกกำลังกายได้เท่ากับวัยหนุ่มสาว จริงอยู่ที่ว่าอายุอาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกาย แม้คุณจะอายุมากคุณก็อาจจะออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงอายุของคุณได้ แต่กระนั้นในผู้สูงอายุบางรายที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเลย ความแข็งแรงที่ลดลงและโรคประจำตัวก็อาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญให้พวกเขาไม่สามารถออกกำลังกายได้เลย ดังนั้นอย่ารอให้ถึงตอนอายุมากแล้วค่อยออกกำลังกายเลยครับ ถ้าคุณยิ่งสะสมสุขภาพที่ดีเร็วเท่าไร พอแก่ตัวลงไปคุณก็ยิ่งสบายมากขึ้นเท่านั้น […]

  2. […] การเริ่มต้นสร้างสุขภาพคุณจำเป็นที่จะต้องเริ่มต้นสะสมเสียตั้งแต่ตอนที่คุณยังมีแรงออกกำลังกายอยู่ เพราะเมื่อคุณอายุมากบางครั้งคุณอาจจะไม่มีพละกำลังมากพอที่จะออกกำลังกายได้เท่ากับวัยหนุ่มสาว จริงอยู่ที่ว่าอายุอาจจะไม่ได้เป็นอุปสรรคในการออกกำลังกาย แม้คุณจะอายุมากคุณก็อาจจะออกกำลังกายให้เหมาะสมกับช่วงอายุของคุณได้ แต่กระนั้นในผู้สูงอายุบางรายที่ไม่ค่อยออกกำลังกายเลย ความแข็งแรงที่ลดลงและโรคประจำตัวก็อาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญให้พวกเขาไม่สามารถออกกำลังกายได้เลย ดังนั้นอย่ารอให้ถึงตอนอายุมากแล้วค่อยออกกำลังกายเลยครับ ถ้าคุณยิ่งสะสมสุขภาพที่ดีเร็วเท่าไร พอแก่ตัวลงไปคุณก็ยิ่งสบายมากขึ้นเท่านั้น […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here