ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ตอนที่4: แบ่งสัดส่วนรายได้ 4 กองชัดเจนก็ยิ้มได้เมื่อหนี้มา

รายได้ 4 กอง

การบริหารหนี้สินให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดคุณจำเป็นต้องวางแผนบริหารจัดการหนี้สินอย่างมีประสิทธิภาพ และวิธีการที่จะทำให้คุณสามารถบริหารหนี้ได้ดีที่สุดคือการวางแผนการเงินส่วนตัวของคุณเอง  การบริหารการเงินที่ดีจำเป็นต้องรู้จักการวางแผนการเงินตั้งแต่ต้นน้ำหรือตั้งแต่เมื่อมีรายได้เข้ามาในกระเป๋าเงินของคุณ เพราะการวางแผนการเงินก่อนที่จะนำเงินมาใช้จะทำให้คุณรู้วัตถุประสงค์ของเงินแต่ละก้อนก่อนที่จะนำมาใช้และทำให้คุณสามารถจัดการหนี้สินได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ การแบ่งสัดส่วนของรายได้ให้ชัดเจนก่อนจะนำไปใช้ก็คือวิธีการที่ช่วยให้เราไม่พลาดในการบริหารจัดการการเงินซึ่งวิธีการนี้จะเป็นอย่างไรและเราจะแบ่งสรรปันส่วนรายได้ของเราได้อย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำเล็ก ๆ น้อย ๆมาฝากครับ

แบ่งรายได้ 4 กอง: จุดเริ่มต้นที่จะทำให้การจัดการการเงินของคุณง่ายขึ้น

จากบทความที่แล้วที่เราพูดถึงการบริหารจัดการการเงินของตัวเองเมื่อมีหนี้ที่ต้องชำระคืนกันไปแล้ว แต่ในบทความนั้นได้ทิ้งท้ายถึงการจัดสรรปันส่วนรายได้อย่างไรไม่ให้กระทบกับภาระหนี้สินจนเกิดปัญหาตามมา ในบทความนี้จึงอยากจะขอนำแนวคิดที่ผู้เขียนเองเรียนรู้มาจากแหล่งต่าง ๆมาแบ่งปันกันครับ เพราะการจัดสรรปันส่วนรายได้ให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ต่าง ๆจะทำให้เราสามารถจัดการทั้งภาระหนี้สินและไปพร้อม ๆกับบริหารจัดการการเงินส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการจัดสรรปันส่วนรายได้อย่างง่าย ๆสามารถแบ่งส่วนออกมาได้ 4 ก้อนดังนี้

กองที่ 1: แยกส่วนของหนี้สินออกมาเป็นอันดับแรก

การแบ่งรายได้กองนี้ออกมาเป็นอันดับแรกมีความสำคัญครับ เพราะภาระหนี้สินเป็นภาระที่คุณไม่อาจเลื่อนเวลาชำระให้เกินกว่าที่ถูกกำหนดเอาไว้ได้ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดมีเงินไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ เมื่อคุณได้รับรายได้เข้ามา ให้แบ่งแยกเงินออกมาเพื่อเตรียมพร้อมในการชำระหนี้ทันทีโดยอาจจะแยกเงินก้อนดังกล่าวออกไปไว้อีกหนึ่งบัญชีเพื่อเตรียมเอาไว้ชระหนี้ครับ ซึ่งก่อนที่คุณจะแบ่งเงินก้อนนี้ออกมาคุณจำเป็นต้องรวบรวมหนี้ทั้งหมดทีคุณมีไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือค่างวดต่าง ๆออกมาให้พร้อมและเป็นจำนวนที่แน่นอน สาเหตุที่คุณควรจะแยกเงินในส่วนที่เตรียมไว้ชำระหนี้ออกมาอีกบัญชีหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้คุณนำเงินส่วนนี้ไปใช้โดยไม่รู้ตัวครับ

กองที่ 2: แยกส่วนของเงินฉุกเฉินออกมาสะสมเพื่อใช้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

ส่วนของเงินฉุกเฉินมีวัตถุประสงค์เป็นไปตามชื่อครับนั่นคือ “ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” ซึ่งได้พูดถึงคร่าว ๆ ไว้ในบทที่แล้ว เงินก้อนนี้มีความสำคัญมากกว่าที่คุณคิด เพราะเราไม่สามารถคาดการณ์อนาคตได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาดังเช่นสถานการณ์ล่าสุดที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้คนจำนวนมากต้องตกงาน บางส่วนมีรายได้ลดลง หากคุณไม่มีเงินสำรองในกรณีฉุกเฉินนี้ก็อาจจะกระทบถึงสภาพคล่องทางการเงินของคุณไม่น้อยครับ หรือแม้ว่าหากไม่มีสถานการณ์ของโควิด-19 เกิดขึ้นคุณก็ไม่อาจรับประกันได้เช่นกันว่าอนาคตคุณจะต้องพบเจอกับวิกฤติอะไรในชีวิตบ้าง เงินสำรองฉุกเฉินก้อนนี้จะต้องคำนวณมาจากรายจ่ายในแต่ละเดือนของคุณว่ามีอะไรบ้างไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่เกิดขึ้น เหตุที่ต้องคำนวณให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดก็เพราะว่าเมื่อคุณไม่มีรายได้เข้ามาเงินจำนวนนี้จะมาทำหน้าที่ทดแทนรายได้ที่ขาดหายไปของคุณนั่นเอง สำหรับวิธีการเก็บเงินก้อนนี้ให้อยู่คุณอาจต้องทำเสมือนว่าบัญชีนี้เป็น “บัญชีไร้ตัวตน” และจะไม่นำเงินก้อนนี้ออกมาใช้อย่างเด็ดขาดหากไม่เกิดเหตุฉุกเฉินจริง ๆ ครับ แม้ว่าบัญชีนี้จะเป็นบัญชีไร้ตัวตน แต่คุณสามารถนำเงินจำนวนนี้ไปเพิ่มมูลค่าได้โดยนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความผันผวนน้อยและสามารถเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินสดได้ในทันทีที่คุณต้องการแม้ว่าจะได้ผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงสูงครับ เหตุที่บอกว่าควรนำไปลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำและสามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันทีเพราะเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่คุณต้องรักษามูลค่าของมันเอาไว้ เพราะวัตถุประสงค์ของเงินก้อนนี้คือ “ไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น” ไม่ใช่เงินที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน

กองที่ 3: แยกส่วนของเงินออมออกมาเพื่อวัตถุประสงค์ในการเพิ่มความมั่งคั่งและเป็นเงินเก็บในยามชรา

มาถึงในส่วนของเงินก้อนที่มีความสำคัญสำหรับคุณอีกก้อนหนึ่งครับ เงินก้อนนี้ก็คือ “เงินออม” เงินก้อนนี้คือเครื่องมือที่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่คุณรวมไปถึงเป็นเงินเก็บที่จะเอาไว้เป็นค่าใช้จ่ายในยามที่คุณเกษียณจากงานประจำครับ คุณต้องแยกเงินออมออกจากเงินฉุกเฉินเสียก่อนเพราะหลาย ๆคนมักจะคิดว่าเงินออมก็คือเงินฉุกเฉินทั้ง ๆที่วัตถุประสงค์ของเงินทั้ง 2 ก้อนนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงครับ ส่วนสัดส่วนในการแบ่งเงินออมและเงินฉุกเฉินของคุณจะแล้วแต่การกำหนดของตัวคุณเองครับ ในส่วนของตัวเงินออมเองคุณก็อาจสามารถแบ่งเป็นก้อนเล็ก ๆเพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันได้เช่นกันไม่ว่าจะเป็นเงินออมที่เป็นเงินเก็บ เงินออมที่เอาไว้ลงทุนในระยะสั้น กลาง และยาว หรือเงินออมเพื่อเอาไว้ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองเช่นเงินดาวน์ที่อยู่อาศัยในอนาคต คำแนะนำสำหรับการเก็บเงินออมก็คือให้เก็บก่อนใช้ครับซึ่งเป็นคำแนะนำที่กูรูการเงินทุกท่านได้แนะนำไว้เหมือน ๆกัน สำหรับท่านใดที่ต้องการนำเงินออมไปลงทุนก็ให้ศึกษาการลงทุนให้ดีเสียก่อน เพราะการลงทุนไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ล้วนมีความเสี่ยงด้วยกันทั้งสิ้นครับทุกการลงทุนจึงอยู่ที่ความรู้และการตัดสินใจในการลงทุนของคุณเอง

กองที่ 4: เงินที่เอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน

เงินก้อนนี้คือเงินที่เอาไว้ใช้ในชีวิตประจำวันครับ ซึ่งแม้ว่าจะถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 4 ในจำนวนเงินทั้ง 4 กองก็ตาม แต่เมื่อหักเงินที่เตรียมไว้ชำระหนี้แล้ว คุณจำเป็นต้องคำนวณว่าในแต่ละเดือนคุณมีเงินที่ต้องใช้จ่ายอยู่ประมาณเท่าใดครับ เมื่อประมาณการเงินที่ต้องใช้จ่ายเรียบร้อยเงินส่วนที่เหลือคือเงินที่คุณจะนำไปเป็นเงินออมและเงินสำรองฉุกเฉิน การประมาณการเงินรายเดือนที่จำเป็นต้องใช้และการเก็บส่วนต่างที่เหลือไปเป็นเงินออม เงินสำรองฉุกเฉินทันทีจะมีประโยชน์เพื่อไม่ให้คุณใช้จ่ายเงินต่าง ๆอย่างฟุ่มเฟือยหรือเกินความจำเป็นครับ เพราะหากคุณไม่แยกส่วนเงินออกมาเช่นนี้ก็แทบไม่มีทางที่คุณจะเหลือเงินเก็บและเงินออมอย่างที่คุณตั้งใจวางแผนไว้อย่างแน่นอน เงินที่เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันยังอาจรวมเงินที่คุณเอาไว้ใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนหรือการให้รางวัลกับตนเองได้เช่นกันเพื่อไม่ให้คุณต้องรู้สึกว่าคุณกำลังเคร่งเครียดมากเกินไปในการจัดการเงินทองของคุณ

ทั้งหมดนี้ก็คือเงิน 4 กองที่คุณจะสามารถแบ่งสันปันส่วนได้เมื่อคุณได้รับเงินรายได้เข้ากระเป๋าครับ การจะแบ่งส่วนเงินต่าง ๆเหล่านี้ได้สิ่งสำคัญที่คุณจำเป็นต้องมีก็คือ “วินัยทางการเงิน” ที่เข้มแข็งครับ หาไม่แล้วเมื่อคุณใช้จ่ายเงินเกินตัวหรือนำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ที่วางไว้และเมื่อยังมีหนี้สินที่ยังต้องจัดการอยู่ก็มีโอกาสที่หนี้สินนั้นจะย้อนกลับมาทำร้ายคุณได้เช่นกันเพราะคุณขาดวินัยทางการเงินครับ

ติดตามบทความดี ๆทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

รายได้ 4 กอง

<< ตอนที่ 3 // ตอนที่ 5 >>

2 ความคิดเห็น

  1. […] สำหรับการวางแผนการเงินนี้ ผู้เขียนได้พูดถึงพร้อมกับยกตัวอย่างไปแล้วในบทความก่อน ๆ ครับไม่ว่าจะเป็นวิธีการบริหารการเงินรวมไปถึงการแบ่งสัดส่วนของรายได้ที่เข้ามาเป็นส่วนต่าง ๆ ใครก็ตามที่มีระเบียบการบริหารและวางแผนการเงินที่ดีคน ๆ นั้นย่อมไม่มีทางก่อหนี้อย่างหนี้บัตรเครดิตได้อย่างแน่นอน ดังนั้นก่อนการใช้เงินคุณควรจัดการและวางแผนการเงินของคุณให้ดี เพื่อประโยชน์ในระยะยาวของตัวคุณเองครับ […]

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here