เมื่อเป็นหนี้เชื่อว่าลูกหนี้ทุกคนย่อมต้องการที่จะชำระหนี้ที่มีนั้นให้ตรงกำหนดเวลา ไม่มีใครอยากค้างชำระหนี้แน่นอน เพราะการค้างชำระหนี้ทุกครั้ง นอกจากเบี้ยปรับชำระหนี้ล่าช้าหรือดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่คุณจะต้องจ่ายเพิ่ม สิ่งที่จะตามมาคือการสูญเสียความน่าเชื่อถือจากทางสถาบันการเงินซึ่งเราจะรู้จักกันดีกับคำว่า “ติดเครดิตบูโร” ครับ เพราะผลเสียของการผิดนัดชำระหนี้นั้นมีมากจึงทำให้ลูกหนี้ทุกคนต้องหาทางชำระหนี้ของตนเองคืนให้ตรงเวลามากที่สุดครับ เพราะความที่ไม่อยากให้ประวัติของตนต้องเสียหายทั้งไม่อยากถูกฟ้องร้องเป็นคดีความทำให้ต้องเสียเวลา แต่กระนั้นสำหรับบางคนหนทางการชำระหนี้ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการก็อาจทำให้ลูกหนี้บางรายเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้คืนและท้ายที่สุดหลายรายจึงตัดสินใจที่จะ “หนีหนี้” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตัวของคุณเลย เมื่อเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้เราจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำ7 วิธีจัดการเมื่อจ่ายหนี้ไม่ไหวมาฝากครับ
ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย คือเส้นทางแห่งหายนะของผู้ที่ตัดสินใจหนีหนี้
การไม่ยอมชำระหนี้อาจส่งผลเสียต่อลูกหนี้มากกว่าที่คิดครับ ประการแรกก็คือคุณจะถูกทวงตามหนี้สินจากทั้งทางจดหมายรวมไปถึงโทรศัพท์ติดต่อจากเจ้าหนี้โดยตรง แต่เมื่อคุณเพิกเฉยเจ้าหนี้ก็อาจใช้ช่องทางทางกฎหมายเพื่อบังคับเอาทรัพย์สินของคุณมาชำระหนี้ครับ ซึ่งมีกรณีตัวอย่างที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้จากการผิดนัดชำระหนี้ค่าผ่อนโทรศัพท์มือถือที่ทำให้ลูกหนี้ต้องสูญเสียที่ดินเพราะถูกนำไปขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้คืนให้แก่เจ้าหนี้ แม้ว่าทางฝั่งของลูกหนี้จะได้ส่วนต่างของราคาที่ดินกลับคืนไปแต่ก็ไม่คุ้มค่าเลยแม้แต่น้อยนั่นเพราะทรัพย์ที่สูญเสียไปอาจมีราคามากกว่ามูลหนี้และต้องถูกตั้งราคาขายต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ครับ ในขณะที่บางรายก็อาจต้องอยู่ในสถานะของบุคคลล้มละลายทำให้ต้องเสียสิทธิ์ต่าง ๆ ทางการเงินไปถึง 3 ปี ดังนั้น “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” จึงเป็นเส้นทางแห่งหายนะอย่างแท้จริง
จ่ายหนี้ไม่ไหวทำอย่างไรดี : 7 วิธีจัดการเมื่อจ่ายหนี้ไม่ไหว
1. ตั้งสติหาสาเหตุของปัญหาว่าเกิดจากอะไร
เมื่อการเงินเริ่มมีปัญหาสิ่งแรกที่คุณต้องทำคือ “อย่าเพิ่งฟูมฟาย” คร่ำครวญถึงปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น แต่จงหยุดและตั้งสติดูเสียก่อนว่าปัญหาทางการเงินของคุณที่เริ่มส่งผลให้คุณเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้คืนนั้นเกิดจากอะไรกันแน่เพื่อที่ว่าเมื่อคุณทราบถึงสาเหตุของปัญหาแล้วคุณจะได้หาวิธีการแก้ไขและรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถูกต้องและเหมาะสมต่อไป เมื่อคุณมีสติแล้วลองหาหนทางที่เป็นไปได้ทั้งหมดที่จะจัดการกับปัญหาหนี้สินของคุณ เช่นการสำรวจรายได้สำรวจเงินสำรองฉุกเฉินหรือสินทรัพย์ทั้งหมดของคุณเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาครับ
2. เจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน
เมื่อคุณมีปัญหาในการชำระหนี้สิ่งถัดมาที่คุณจำเป็นต้องทำหลังจากที่คุณตั้งสติแล้วก็คือ “การหาทางเจรจากับเจ้าหนี้” เพื่อหาทางออกของปัญหาร่วมกัน หากคุณมีประวัติในการชำระหนี้ที่ดีเจ้าหนี้ทุกรายก็มักจะยินยอมให้คุณพูดคุยเจรจาด้วยเสมอครับ เพราะทางฝั่งของเจ้าหนี้เองเขาก็ไม่ได้ต้องการให้หนี้ที่คุณกู้มาเป็นหนี้เสียเช่นกัน ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาการเจรจาหาทางออกและวิธีแก้ปัญหาจึงเป็นวิธีการที่ดีที่สุดไม่ใช่วิธีการหนีหายซึ่งในท้ายที่สุดคุณอาจจะไม่เหลือทางเลือกใด ๆ เลยหากคดีความถึงที่สุด
3. ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลง
การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงจะช่วยแก้ไขปัญหาที่ไม่สามารถชำระหนี้สินได้ในระดับหนึ่งครับ เมื่อใดที่สถานะทางการเงินเริ่มฝืดเคืองจนอาจส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ “มาตรการรัดเข็มขัด” สามารถช่วยให้คุณผ่อนภาระจากหนักให้เป็นเบาได้ครับ แม้ว่าการลดรายจ่ายจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทั้งหมดแต่ก็สามารถทำให้คุณประคับประคองสถานการณ์ต่อไปได้จนผ่านพ้นวิกฤติครับ
4. หารายได้เพิ่มเติม
หากคุณวางแผนการเงินเพื่อรองรับการเป็นหนี้ไว้อย่างดี แต่ท้ายที่สุดกลับเกิดปัญหาที่กระทบถึงการชำระหนี้สิน สาเหตุแรก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาก็คือ “มีเหตุทำให้รายได้ลดลง” หากสาเหตุของปัญหาอยู่ที่รายได้ที่ลดลงไปจากที่วางแผนไว้หรือผิดไปจากที่คาดการณ์วิธีการแก้ปัญหานี้ก็คือ “การหารายได้เสริมเพิ่มเติม” เพื่อให้ระดับของรายได้กลับมาเทียบเท่ากับแผนที่วางไว้ นอกเหนือไปจากการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นการเพิ่มรายได้ก็คือวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุดครับ
5. ดูลำดับความสำคัญของหนี้สินในการชำระ
โดยทั่วไปสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาในการชำระหนี้อีกประการหนึ่งนอกเหนือไปจากปัญหารายรับลดลงก็คือ การมีหนี้หลายก้อนเกินไปครับ สำหรับมนุษย์เงินเดือนหนี้ 3 ก้อนที่เป็นหนี้ยอดนิยมได้แก่ หนี้บัตรเครดิต หนี้อสังหาริมทรัพย์ และหนี้เช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งหนี้แต่ละก้อนมีระยะเวลาในการผ่อนชำระ อัตราดอกเบี้ยและผลกระทบเมื่อผิดนัดชำระที่แตกต่างกัน ซึ่งหากคุณมีหนี้หลายก้อนลองจัดลำดับความสำคัญของหนี้แต่ละก้อนใหม่ เพราะบางก้อนการจ่ายเพียงขั้นต่ำเพียงอย่างเดียว อาจช่วยให้คุณมีเงินเหลือพอที่จะไปจัดการหนี้ที่มี่ความสำคัญมากกว่าครับ
6. หนี้บางประเภทควรหาวิธีการรวมยอดให้กลายเป็นหนี้ก้อนเดียว
หนี้บัตรเครดิตคือหนี้ในประเภทนี้ครับ เนื่องเพราะการขาดวินัยทางการเงินทำให้บางคนมีหนี้บัตรเครดิตหลายใบ และหนี้ชนิดนี้เป็นหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงมากเช่นกัน ยิ่งทำให้มีผลกระทบต่อการใช้หนี้ยิ่งขึ้นไปอีก ในปัจจุบันทางสถาบันการเงินหลายแห่งมีสินเชื่อที่ช่วยให้คุณสามารถจัดการภาระหนี้บัตรเครดิตทั้งหมดได้ครับ ซึ่งข้อดีของสินเชื่อประเภทที่ว่านี้คือ คุณสามารถรวบรวมหนี้ทั่งหมดเป็นก้อนเดียวในอัตราดอกเบี้นที่ถูกกว่าดอกเบี้ยของบัตรเครดิตมากครับ สำหรับสินเชื่อลักษณะนี้จะขอยกไปพูดถึงในโอกาสต่อไป
7. การปรับโครงสร้างหนี้เพื่อความคล่องตัวของสถานะการเงินของคุณ
หากคุณมีปัญหาในการชำระหนี้สินจริง ๆ และรู้สึกว่าภาระหนี้สินของคุณหนักหนาเกินความสามารถในการชำระหนี้ได้ การขอปรับโครงสร้างหนี้ใหม่อาจช่วยให้สถานะทางการเงินของคุณคล่องตัวขึ้นครับ ซึ่งทางสถาบันการเงินอาจใช้วิธีการเพิ่มอายุสัญญาขึ้นใหม่ซึ่งจะช่วยให้การผ่อนชำระในแต่ละงวดลดลงตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นมานี้ ทั้งนี้การปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จะสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับประวัติการชำระหนี้ของคุณและวินัยทางการเงินภายหลังการปรับโครงสร้างหนี้แล้วครับ
ขั้นตอนทั้ง 7 วิธีนี้คือ คำแนะนำเพื่อให้คุณนำไปแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อคุณเริ่มมีปัญหาจนทำให้การชำระหนี้ของคุณยากลำบากยิ่งขึ้น แต่กระนั้นทั่งหมดนี้คือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุครับ หากคุณอยากแก้ปัญหาที่ต้นเหตุหรือป้องกันไม่ให้ภาระหนี้สินมาเล่นงานคุณ “วินัยทางการเงิน” คือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่คุณต้องใส่ใจเสมอ แล้วพบกันใหม่ในตอนถัดไปของซีรี่ย์ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐครับ
ติดตามบทความดี ๆบนช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

[…] […]
[…] << ตอนที่ 7 // ตอนที่ 9 >> […]