การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรผู้สูงอายุในอีก 30 ปีต่อจากนี้ กำลังจะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ นับเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าวัยหนุ่มสาว ไม่ว่าจะมองไปทางไหนเราจะเห็นผู้สูงวัยครองเมืองอยู่แทบทุกพื้นที่บนโลก การขยายตัวอย่างกว้างขวางเช่นนี้ ส่งผลให้กลุ่มผู้สูงวัยมีอิทธิพลกลายเป็นพลังขับเคลื่อนใหม่สู่ Longevity Economy (เศรษฐกิจอายุวัฒน์) เมื่อกลุ่มผู้สูงอายุเป็นโอกาสแห่งอนาคต ส่งผลให้เป็นที่จับตาของตลาด ผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดผู้สูงวัย ต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของลูกค้ากลุ่มนี้ เพื่อประเมินสถานการณ์และทำการตลาดได้ตรงจุด
ทำการตลาดอย่างไรให้โดนใจผู้สูงอายุ
ลบภาพจำเดิมๆ เกี่ยวกับ “ผู้สูงวัย”
ทัศนคติที่มองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ ทำอะไรก็ช้า งกๆ เงิ่นๆ เนิบนาบ เฉื่อยชา ไม่ชอบเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ในความเป็นจริงแล้ว “ผู้สูงวัย” เป็นเช่นนี้จริงหรือ? แล้วพวกเขามีมุมมองต่อตัวเองอย่างไร? สำหรับยุคนี้จะเห็นได้ว่าผู้สูงอายุหลายท่านยังคงทำงานแม้เลยวัยเกษียณ (ไม่ได้โฟกัสที่ค่าตอบแทน) บางท่านหากิจกรรมทำอยู่เสมอ เพราะไม่อยากอยู่บ้านเฉยๆ บางท่านหันมาทำธุรกิจเล็กๆ เป็นของตนเอง เราจึงเห็นธุรกิจเกิดใหม่ก่อตั้งโดยผู้ประกอบการสูงวัยกันมากขึ้น แถมไอเดียก็ไม่ธรรมดาอีกด้วย! อย่างไรก็ตาม นิยามคำว่า “ผู้สูงอายุ” แต่ละประเทศนั้นต่างกัน ในไทยมองว่า 60 เป็นอายุเริ่มต้นของผู้สูงวัย ในขณะที่สเปนเริ่มต้นที่ 70 ปี เพราะ “อายุเป็นเพียงตัวเลข” ผู้สูงวัยที่ดูแลสุขภาพร่างกายเป็นอย่างดี บางท่านแข็งแรงพอๆ กับคนหนุ่มสาว ก็มีให้เห็นกันมาแล้ว
อะไรคือ ความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ
อายุไม่ได้ชี้วัดตัวตนที่แท้จริงของผู้สูงอายุ แม้แต่คนวัยเดียวกันยังมีความชื่นชอบต่างกัน แล้วคนต่างวัยจะเข้าใจกันได้อย่างไร? เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องขบคิดและค้นหาให้เจอ ถ้าต้องการเข้าไปครองใจลูกค้าวัยเก๋า แบรนด์สินค้าหรือบริการต้องโฟกัสที่ความชอบ ความต้องการ ความสนใจ พฤติกรรม และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเป็นหลัก ไม่ใช่ดูกันที่อายุเพียงอย่างเดียว อย่างพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้สูงอายุในปัจจุบันก็เปลี่ยนไปจากเดิม หลายท่านใช้เงินเพื่อตอบสนองความสุขเพิ่มขึ้น จะมาทึกทักเอาเองว่าคนวัยนี้ซื้อเฉพาะของใช้ประจำวัน ไม่สนใจเทคโนโลยี ไม่ชอบเรียนรู้ ชอบยึดติด แบบนี้คงไม่ได้ ต้องผ่านการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่มาจากพฤติกรรมจริงของลูกค้า
เพราะถ้าวิเคราะห์ผิดพลาด จะทำให้ประเมินสถานการณ์และวางแผนการตลาดไม่ถูกทิศทาง เสียทั้งเงิน เวลา ทรัพยากร และโอกาสทางธุรกิจ
แสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการตอบโจทย์สังคมผู้สูงวัยได้อย่างไร
หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจไปไม่ถึงไหน และเป็นความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยคือ ผู้ประกอบการมักคิดว่าสินค้าดี คุณภาพเลิศ ยังไงก็ขายได้ และจะต้องขายดีแน่ๆ แต่หากสินค้านั้นไม่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มลูกค้าก็จะกลายเป็น “สินค้าที่ไม่ใช่” ทันที ในทางกลับกันคงเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อย หากสินค้าหรือบริการนั้นถูกออกแบบมาตรงต่อความต้องการของลูกค้า แต่แบรนด์ไม่สามารถนำเสนอหรือสื่อสารได้อย่างเหมาะสม แบรนด์ต้องแสดงให้เห็นว่าสินค้าหรือบริการสามารถช่วยเหลือ หรือแก้ปัญหาของลูกค้าได้อย่างไร ตอบโจทย์ความต้องการที่ชัดเจนในด้านใด เช่น สุขภาพ การท่องเที่ยว ความสะดวกสบาย หรือจัดการในเรื่องใดที่ผู้สูงวัยวิตกกังวลมากที่สุด เช่น โรคร้าย การเงิน บนแพคเกจจิ้งอาจไม่จำเป็นต้องระบุว่าสินค้าชนิดนี้ผลิตขึ้นเพื่อผู้สูงอายุ เพราะบางเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน ไม่มีใครอยากแก่ และอาจกระทบต่อความรู้สึกได้
ครองใจลูกค้าสูงวัยด้วยการตลาดออนไลน์
ผู้สูงอายุยุคนี้เข้าถึงเทคโนโลยีไม่ต่างจากคนวัยหนุ่มสาว บางท่านใช้งานแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้คล่องแคล่ว พูดคุยสื่อสารกับครอบครัว เพื่อนวัยเดียวกันผ่านทาง Social Media บางท่านเพลิดเพลินกับการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ผู้ประกอบการต้องเลือกใช้เครื่องมือการตลาดออนไลน์ให้เหมาะสม เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ามากขึ้น และต้องรู้ว่า สื่อไหนที่ผู้สูงอายุเข้าถึงการรับโฆษณามากที่สุด ใช้ช่องทางออนไลน์ใดบ่อยที่สุด ในช่วงเวลาใด สนใจคอนเทนต์เกี่ยวกับอะไร เพื่อช่วยวางแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น แบรนด์ต้องวางกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ที่ให้ข้อมูลที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้า เช่น ข่าว บทความเกี่ยวกับสุขภาพ เพื่อสร้างการรับรู้และเพิ่มโอกาสในการที่ลูกค้าจะหาเราเจอ แม้แต่รายละเอียดเล็กน้อยก็ต้องใส่ใจ เช่น สีสันมองเห็นชัดเจน ตัวอักษรขนาดใหญ่อ่านง่าย ถ้อยคำที่ใช้สื่อสารเข้าใจได้ง่าย ไม่ซับซ้อน หรือล้ำเกินไปจนเข้าไม่ถึง
สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า
เพราะผู้สูงวัยเป็นวัยที่ต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เวลาที่ชื่นชอบสินค้าอะไรสักอย่าง ก็จะมีความผูกพันธ์กับแบรนด์นั้น ไม่ค่อยเปลี่ยนใจไปลองใช้อะไรใหม่ๆ ก่อนจะได้ใจลูกค้าสูงวัย ต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารเพื่อเข้าถึงลูกค้าเสียก่อน นำเสนอในเรื่องใกล้ตัวอย่างตรงไปตรงมา ทำทุกอย่างให้เรียบง่าย สื่อสารให้เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้า สร้างความรู้สึกพิเศษเข้าไป อย่างโปรโมชั่น ส่วนลดพิเศษ มอบของกำนัลในวันเกิด บริการส่งสินค้าฟรี! เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกประทับใจ ซึ่งวิธีนี้จะเอื้อให้ผู้สูงวัยเกิดความชื่นชอบและแนะนำบอกต่อเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว และต้องคอยติดตามผลหลังจากที่ลูกค้าซื้อสินค้าหรือบริการนั้นไปแล้ว พวกเขาจะรู้สึกว่าสามารถติดต่อกับร้านที่ซื้อไปได้ ไม่ทอดทิ้งลูกค้า ไม่ใช่ซื้อแล้วจบ! สอบถามเพิ่มเติมอะไรไม่ได้ บริการหลังการขายยังสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของแบรนด์ หากลูกค้าได้รับสินค้าและบริการเป็นที่น่าพึงพอใจ การเอาชนะใจก็ทำได้ไม่ยากและครองใจไปได้นานนั่นเอง
“ผู้สูงอายุเป็นภาระหรือโอกาส” สำหรับคนวัยนี้ที่มีกำลังซื้อและเวลา พร้อมที่จะจ่ายเพื่อความพึงพอใจของตนเอง เป็นกลุ่มคนที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ประกอบการคงต้องเปลี่ยนมุมมองเดิมๆ เพื่อที่จะเข้าถึง เข้าใจตลาดผู้สูงวัยให้มากขึ้น ต้องเริ่มทำการบ้าน ศึกษาพฤติกรรมลูกค้า เตรียมความพร้อม เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขันทางธุรกิจในอนาคตอันใกล้นี้
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
