ความไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ ตอนที่ 10: เมื่อถูกฟ้องยึดบ้านจะทำอย่างไรได้บ้าง 6 วิธีจัดการเมื่อถูกฟ้องยึดบ้าน

6 วิธีจัดการเมื่อถูกฟ้องยึดบ้าน

ในตอนที่แล้วเราได้รู้จักกับวิธีประนอมหนี้เมื่อคุณเริ่มมีปัญหาทางการเงินทำให้ผ่อนชำระค่างวดบ้านกับทางสถาบันการเงินไม่ไหวกันแล้ว สำหรับบทความนี้เป็นตอนต่อเนื่องจากเมื่อตอนที่แล้วนั่นก็คือแล้วหากท้ายที่สุดแล้วการประนอมหนี้ไม่สำเร็จหรือเมื่อประนอมหนี้กับทางสถาบันการเงินแล้วก็ยังเกิดปัญหาทำให้คุณไม่สามารถทำตามสัญญาที่ตกลงกับทางสถาบันการเงินได้อีกจนกระทั่งเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล คุณจะมีวิธีการจัดการอย่างไรได้บ้างเมื่อบ้านอันเป็นน้ำพักน้ำแรงของคุณกำลังจะถูกฟ้องยึดทรัพย์ บทความนี้มีคำแนะนำมาแบ่งปันกันครับ

6 วิธีจัดการเมื่อถูกฟ้องยึดบ้านจะทำอย่างไรดีเพื่อไม่ให้เป็นปัญหา

1. ติดต่อขอให้สถาบันการเงินชะลอการฟ้อง

การที่สถาบันการเงินจะชะลอการฟ้องยึดทรัพย์คุณได้ คุณจำเป็นต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ทางสถาบันการเงินกำหนดครับ โดยส่วนมากคือคุณจะต้องชำระเงินค่างวดติดต่อกันให้ทันงวดปัจจุบันให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนแล้วผ่อนชำระต่อตามสัญญาเดิม หรือคุณอาจติดต่อขอชำระเพียงดอกเบี้ยประจำเดือนโดยไม่ผิดนัดเลยเป็นระยะเวลา 12 เดือน เมื่อครบกำหนดตามที่คุณได้ตกลงกับทางสถาบันการเงินโดยไม่มีการขาดส่งงวดใดงวดหนึ่งเลย ทางสถาบันการเงินก็จะคำนวณเงินงวดใหม่ที่คุณจะต้องชำระคืนให้แก่สถาบันการเงินใหม่ต่อไปครับ

2. ติดต่อขอให้สถาบันการเงินถอนฟ้อง

เมื่อเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นที่เรียบร้อยแล้วและคุณต้องการให้ทางสถาบันการเงินถอนฟ้องคดีกับคุณ คุณก็สามารถทำได้เช่นกันครับ โดยคุณจะต้องติดต่อกับทางสถาบันการเงินเพื่อชำระหนี้ให้ทันค่างวดในปัจจุบันพร้อมกับชำระดอกเบี้ยค้างทั้งหมดให้แก่ทางสถาบันการเงินครับ เพียงเท่านี้ทางสถาบันการเงินก็จะถอนฟ้องคดีกับคุณแล้ว แต่กระนั้นสำหรับค่าธรรมเนียมศาลและค่าใช้จ่ายอื่น ๆที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีที่ทางสถาบันการเงินจ่ายไปคุณจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตนเองครับ

3. ขอให้มีการชะลอการขายทอดตลาด

แม้ว่าทางศาลจะมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์และนำบ้านของคุณไปเตรียมการขายทอดตลาดแล้วก็ตามก็ใช่ว่าคุณจะหมดหนทางประนีประนอมครับ หากเรื่องดำเนินมาถึงขั้นนี้คุณก็ยังสามารถขอเจรจาต่อรองกับทางสถาบันการเงินเพื่อขอให้มีการชะลอการขายทอดตลาดก่อนได้ครับ โดยเงื่อนไขที่คุณจะต้องปฏิบัติตามก็คือคุณจะต้องชำระหนี้ที่ติดค้างติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 งวดและมูลหนี้ที่เหลือของคุณจะต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 80 ของราคาประเมินหลักทรัพย์ใหม่ เมื่อคุณทำตามเงื่อนไขดังกล่าวครบถ้วน ทางสถาบันการเงินก็จะทำสัญญาเงินกู้ฉบับใหม่ให้แก่คุณครับ แต่ทั้งนี้สำหรับค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในชั้นฟ้องร้องและชั้นบังคับคดี รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่ทางทนายความของสถาบันการเงินต้องเดินทางไปเลื่อนการขายทอดตลาดเป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องจัดการตามที่ทางสถาบันการเงินจ่ายจริงครับ

4. ขอให้มีการยอมความกับทางสถาบันการเงิน

เมื่อคุณถูกทางสถาบันการเงินฟ้องร้องเพื่อดำเนินการยึดทรัพย์แล้ว คุณก็สามารถเจรจาเพื่อให้ทางสถาบันการเงินยอมความกับคุณได้ แต่เงื่อนไขที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้สถาบันการเงินยอมความก็คือคุณจะต้องชำระหนี้ที่ติดค้างทั้งหมดพร้อมทั้งไถ่ถอนจำนองภายในระยะเวลาที่ทางสถาบันการเงินกำหนดครับ หรืออาจขอให้ทางสถาบันการเงินกำหนดงวดชำระหนี้ใหม่และอาจขอให้มีการแบ่งเบาภาระการผ่อนชำระหนี้นั้นภายใน 1-2 ปีแรกของการชำระหนี้จนกว่าการชำระหนี้จะแล้วเสร็จครับ และเช่นเดียวกับเงื่อนไขอื่น ๆที่คุณจะต้องเป็นผู้รับผิดชองค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีและค่าทนายความที่ทางสถาบันการเงินจ่ายจริงให้ครบถ้วนครับ

5. ขอให้มีการชะลอการยึดทรัพย์

แม้คำพิพากษาจะสิ้นสุดลงและคุณจะต้องถูกทางสถาบันการเงินยึดทรัพย์ตามคำสั่งของศาลก็ตาม แต่คุณก็ยังสามารถเจรจาต่อรองกับทางสถาบันการเงินเพื่อขอให้มีการชะลอการยึดทรัพย์ได้ครับ โดยเงื่อนไขที่คุณต้องปฏิบัติตามก็คือคุณจะต้องดำเนินการชำระหนี้สินที่คุณติดค้างกับทางสถาบันการเงินทั้งหมดและไถ่ถอนจดจำนองภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนครับโดยทางสถาบันการเงินอาจกำหนดให้คุณต้องชำระหนี้บางส่วนตามจำนวนที่ตกลงเสียก่อนที่คุณจะปิดหนี้ทั้งหมดครับ แต่ในกรณีที่มูลหนี้ที่เหลือมี่มูลค่ามากกว่า 80 % ของราคาประเมินหลักทรัพย์ใหม่คุณก็อาจขอให้ทางสถาบันการเงินทำสัญญาฉบับใหม่กับคุณได้ครับเมื่อคุณได้ชำระหนี้สินตามที่ตกลงกับทางสถาบันการเงินตามที่ตกลงไว้ไม่น้อยกว่า 6 งวด สำหรับค่าใช้จ่ายต่าง ๆที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีก็เป็นหน้าที่ที่คุณจะต้องรับภาระนี้เช่นเดิมครับ

6. ขอเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามสัญญากู้ใหม่ ขอกู้เพิ่มหรือขอเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในสัญญา

ก่อนที่คุณจะได้สิทธิ์ดังกล่าวคุณจะต้องชำระค่าธรรมเนียมศาล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคดีความทั้งหมดเสียก่อนครับและคุณจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในการประนอมหนี้ที่ทางสถาบันการเงินกำหนดไว้เสียก่อน จากนั้นคุณจึงจะสามารถขอยื่นกู้ใหม่ได้ครับโดยสัญญากู้ฉบับใหม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขบางอย่างในสัญญาเดิม หรืออาจจะให้ผู้กู้รายใหม่ทำเรื่องขอยื่นกู้เพื่อเป็นการเปลี่ยนตัวลูกหนี้กับทางสถาบันการเงินครับ แต่ในบางกรณีทางสถาบันการเงินก็อาจจะให้คุณและผู้กู้รายใหม่ทำสัญญาในลักษณะขอเป็นผู้กู้ร่วมครับ และสัญญาฉบับใหม่ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงระยะเวลาการผ่อนชำระรวมถึงจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวดใหม่อีกครั้ง

แม้ว่าเรื่องจะถึงชั้นศาลแล้วก็ตาม แต่คุณก็ยังสามารถประนีประนอมกับเจ้าหนี้ได้เสมอครับหากคุณแสดงความต้องการที่จะชำระหนี้ก้อนนั้นจริง เมื่อใดที่เกิดปัญหาเกี่ยวกับหนี้สินอย่าพยายามหนีหนี้โดยการเงียบหายไปเฉย ๆเพราะช่องทางในการประนีประนอมหนี้ยังมีอยู่ การหนีหายไปเฉย ๆจะสร้างปัญหาที่คาดไม่ถึงให้แก่คุณมากครับโดยเฉพาะเมื่อผลเลวร้ายที่สุดคือการถูกฟ้องล้มละลาย เพราะเมื่อเหตุการณ์ดำเนินไปถึงขั้นนี้นั่นเท่ากับว่าคุณจะไม่เหลือสิทธิ์ใด ๆที่จะต่อรองอีกเลยและคุณจะไม่สามารถดำเนินธุรกรรมการเงินใด ๆ ได้อีกเช่นกันครับ

ติดตามบทความดี ๆทางช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

6 วิธีจัดการเมื่อถูกฟ้องยึดบ้าน

<< ตอนที่ 9 // ตอนที่ 11 >>

1 ความคิดเห็น

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here