หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่าโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิตที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งจากการรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ในปริมาณมากเกินไป การเคลื่อนไหวร่างกายที่น้อยลง สะสมนานวันเข้าจนเกิดเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว นับเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อร่างกายผู้ป่วยและคนรอบข้างที่ต้องดูแล แม้อายุไม่เยอะก็มีโอกาสเป็นได้ มีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง บางโรคมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ มาดูกันว่ากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่ต้องระวัง มีอะไรบ้าง
มาทำความรู้จักกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกันสักนิด
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรืออีกชื่อที่เรียกกันว่า โรค NCDs ; Non-Communicable Diseases คือ โรคที่ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ไม่สามารถติดต่อกันได้ มีปัจจัยเสี่ยงเกิดจากพฤติกรรมการชีวิตที่ไม่เหมาะสม การดำเนินของโรคเป็นไปอย่างช้าๆ อย่างต่อเนื่อง อาการจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย และเรื้อรังในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา แม้แต่วัยทำงานที่หลายคนชะล่าใจว่าเป็นวัยที่แข็งแรง คงไม่เจ็บป่วยได้ง่าย แต่รู้หรือไม่ว่า นี่เป็นช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงในการเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพมากมาย ถ้ายังละเลยการดูแลร่างกายต่อไปเรื่อยๆ ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นในทุกๆ ปี และเป็นหนึ่งในสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
4 โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่วัยทำงานต้องระวัง
- โรคหัวใจขาดเลือด
มักเกิดกับวัยทำงานและพบบ่อยในวัยกลางคน เกิดขึ้นเนื่องจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบหรือตัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจมีเลือดไปเลี้ยงลดลงหรือไม่มีเลย ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หรือถ้ารุนแรงมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง
ถ้าตัดปัจจัยด้านอายุ เพศ และประวัติคนในครอบครัวที่เป็นโรคนี้ออกไป ปัจจัยภายนอกที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรค เช่น การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันที่สูงเป็นประจำ ภาวะความเครียดสะสม โดยเฉพาะคนที่ทำงานหนักหามรุ่งหามค่ำ
อาการเตือนที่ควรระวัง
ปวดแน่นบริเวณหน้าอก จุกที่คอหอยหรือลิ้นปี่ หายใจไม่สะดวก หน้ามืด หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง
- โรคหลอดเลือดสมอง
ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตันหรือแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก ทำให้เกิดการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หนึ่งในโรคยอดฮิตของคนที่ทำงานหนักจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของวัยทำงาน หากละเลยสัญญาณเตือนบางอย่างเพียงเสี้ยววินาที อาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง
ความเครียด พักผ่อนน้อย กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง กินหวานจัด เค็มจัด และไม่ได้ออกกำลังกาย ส่วนใครที่เป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ จัดเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน
อาการเตือนที่ควรระวัง
แขนขาอ่อนแรง ชาที่ปลายมือปลายเท้า กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง ปากเบี้ยว พูดลำบาก สับสน นึกคำพูดไม่ออก หากเกิดอาการเหล่านี้ ต้องรีบไปพบแพทย์ให้ทันภายใน 4.5 ชั่วโมง เพื่อลดความเสี่ยงต่อความพิการและเสียชีวิตได้
- โรคเบาหวาน
เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่มีการผลิตฮอร์โมนอินซูลินไม่เพียงพอหรือร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้น้อย ร่างกายจึงไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ที่ต้องระวังคือภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่มาพร้อมกับโรค เช่น ภาวะแผลติดเชื้อ ภาวะแทรกซ้อนทางตา ไต หัวใจวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต
พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง
โรคเบาหวานพบได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงวัยสูงอายุ โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 ปีขึ้นไปที่มีภาวะอ้วนลงพุง มีความเสี่ยงสูง นอกจากปัจจัยภายในที่ก่อให้เกิดโรค ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น ชอบทานอาหารรสจัด ชอบกินของทอด ของมัน ความเครียด ไม่ยอมออกกำลังกาย ดื่มแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่หนัก
อาการเตือนที่ควรระวัง
ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน น้ำหนักลดอย่างไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียง่าย ทั้งๆ ที่พักผ่อนเพียงพอ ผิวหนังแห้ง อาจมีอาการคันตามตัว เป็นแผลแล้วหายยาก
- โรคความดันโลหิตสูง
ภัยเงียบของสารพัดโรคร้ายที่ไม่ควรมองข้าม เป็นสภาวะของระดับความดันเลือดที่สูงกว่าระดับปกติของคนส่วนใหญ่ โดยทั่วไปแล้วผู้ที่มีความดันเลือดปกติ จะวัดค่าความดันได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ถือเป็นสภาวะที่ต้องได้รับการควบคุมตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากทำให้เกิดความเสียหาย และการเสื่อมสภาพของหลอดเลือดแดง เกินกว่าครึ่งของผู้ป่วยมักจะไม่มีอาการใดๆ พอรู้ตัวอีกทีก็เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นแล้ว
พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยง
กว่า 90% ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด หากตัดปัจจัยภายในเช่น อายุ เพศ ประวัติคนในครอบครัว ออกไป ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความดันโลหิตสูง เช่น ภาวะนํ้าหนักตัวเกินหรือโรคอ้วน การทานอาหารเค็มจัด อาหารที่มีไขมันสูง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่
อาการเตือนที่ควรระวัง
ปวดศีรษะบ่อย หลังตื่นนอนจะมึนงง ตาพร่ามัว คลื่นไส้ อาเจียน เหนื่อยง่าย ใจสั่น หน้ามืดเป็นลม
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นโรคร้ายที่วัยทำงานไม่ควรมองข้าม ต้อง “รู้จัก ตระหนัก และพึงระวังโรคภัย” ซึ่งสามารถป้องกันได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค หันมาดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ใส่ใจการรับประทานอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพราะการป้องกันนั้นย่อมดีกว่าต้องมารักษากันภายหลัง
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

[…] ด้าน หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง […]
[…] หากดูแลร่างกายไม่ได้อาจเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน […]
[…] หากดูแลร่างกายไม่ได้อาจเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน […]
[…] ด้าน หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง […]
[…] 400 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน […]