การดูแลสุขภาพใจมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าสุขภาพกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่นอกจากจะเผชิญกับความเสื่อมของร่างกายแล้ว ยังต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การเรียนรู้เทคโนโลยีต่างๆ ความสัมพันธ์กับบุคคลใกล้ชิด ชีวิตวิถีใหม่หรือ “New Normal” ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้สูงวัยหลายท่าน จนเกิดความตื่นตระหนก รู้สึกเครียด ครอบครัวไหนที่อาศัยอยู่ร่วมกันกับผู้สูงอายุ บางครั้งเกิดความเข้าใจผิดกัน อาจทำให้เกิดความขัดแย้งเล็กๆ ขึ้นได้ เพื่อป้องกันไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่าเดิม มาดูกันว่ามีวิธีใดบ้างที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ
5 วิธีส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีของผู้สูงอายุ
- ปรับมุมมองที่มีต่อผู้สูงอายุเสียใหม่
คนแก่มักจะจู้จี้ ขี้บ่น เลอะเลือน หลงๆ ลืมๆ ไม่ทันสมัย ความคิดล้าหลัง เป็นสิ่งที่สังคมหรือแม้แต่บางครอบครัวก็มองเช่นนี้ ในความจริงแล้วใช่ว่าผู้สูงอายุจะเป็นแบบนี้กันทุกคน เป็นเรื่องของนิสัยส่วนตัวมากกว่า ส่วนอาการหลงลืมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเข้าข่ายภาวะสมองเสื่อมอันนั้นก็อีกเรื่องนึง ทุกคนในครอบครัวจึงต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้สูงวัยแต่ละท่านไม่เหมือนกัน บางท่านยังเชื่อในศักยภาพของตัวเอง ไม่ยอมให้อายุเป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ หรือทำตามความสนใจและความต้องการ คนรุ่นใหญ่เดี๋ยวนี้ทันสมัยกันมากขึ้น ใช้สมาร์ทโฟนกันแทบทุกคน อย่าตีกรอบความคิดแบบเดิมๆ เราต้องปรับทัศนคติใหม่ ไม่จำเป็นต้องเข้าใจในทุกอย่าง แค่รู้ว่าอะไรคือความแตกต่าง แล้วจะปรับเข้าหากันยังไง
- อย่าทำให้ผู้สูงวัยรู้สึกด้อยคุณค่า
ผู้สูงวัยก็ไม่ต่างจากวัยอื่น ที่ครั้งหนึ่งเคยประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เคยทำอะไรได้ด้วยตนเอง เพียงแค่อายุเพิ่มขึ้นหรือมีข้อจำกัดในเรื่องของสุขภาพ ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหยุดทำในสิ่งที่ชอบหรือไม่อยากลองทำอะไรใหม่ๆ การที่ไม่ได้ทำงานที่เป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นเหตุให้ผู้สูงอายุเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ เบื่อหน่าย หดหู่ บางท่านคิดว่าตัวเองเป็นภาระ อาจรู้สึกว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่าตามไปด้วย บ้านไหนที่ละเลยการพูดคุยกัน จะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดจนทำให้ท่านรู้สึกแปลกแยกจากคนในครอบครัว อาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าได้เช่นกัน ส่วนบ้านไหนที่ผู้สูงวัยใช้เวลาอยู่กับหน้าจอทีวีทั้งวันทั้งคืน ไม่ยอมขยับตัวทำอะไรเลย คนในบ้านก็ต้องส่งเสริมให้ท่านเกิดความพอใจที่จะดูแลตัวเองเพื่อสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
- จัดบ้านให้น่าอยู่ สร้างบรรยากาศดี ๆ ภายในบ้าน
รู้หรือไม่ว่า บ้านที่สะอาด ปลอดโปร่ง ข้าวของถูกจัดเก็บเป็นระเบียบ มีส่วนช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยที่ดีให้แก่ผู้อยู่อาศัย เมื่ออยู่อย่างสบายกาย จิตใจก็จะเบิกบานแจ่มใสไปด้วย อย่าลืมว่าผู้สูงวัยใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน บางท่านไม่ชอบออกไปพบปะผู้คน รู้สึกสบายใจที่จะอยู่ในพื้นที่ของตัวเองมากกว่า จึงจำเป็นต้องจัดบ้านให้น่าอยู่ มีแสงสว่างที่เพียงพอช่วยฆ่าเชื้อโรคและทำให้บ้านไม่อับชื้น อากาศถ่ายเทสะดวกจะทำให้รู้สึกถึงความผ่อนคลาย สามารถสร้างบรรยากาศดีๆ ภายในบ้านด้วยกลิ่นหอม เพราะกลิ่นสามารถบำบัดอารมณ์เศร้า เหงาได้ ลองเพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้าน ก็จะช่วยให้รู้สึกสดชื่น เหมือนอยู่ใกล้กับธรรมชาติ
- เป็นผู้รับฟังที่ดี
ในบางเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว บางทีทำเฉยบ้างจะเป็นไรไป การที่ผู้อาวุโสในครอบครัวได้รับรู้ข้อมูลหรือเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น เล่น Social Media ซื้อของออนไลน์ ดูหนัง ทำธุรกรรมทางการเงินออนไลน์ นี่อาจเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นสำหรับท่าน บางทีท่านก็อยากจะมีส่วนร่วมในวงสนทนาบ้าง หรือหากเรากำลังเจอปัญหา ท่านก็อยากให้คำแนะนำ แม้มุมมองของคนต่างวัยจะต่างกัน เราอาจไม่เห็นด้วยกับคำแนะนำทั้งหมด แต่คำพูดบางอย่างที่หลุดออกจากปากเราในขณะที่ไม่สบอารมณ์ อาจเป็นการทำร้ายจิตใจท่านโดยไม่รู้ตัว บางครั้งแค่รับฟังเฉยๆ โดยไม่ต้องมีข้อโต้แย้งใดๆ หรือชวนพูดคุยเกี่ยวกับกิจวัตรในแต่ละวัน จะทำให้ท่านรู้สึกว่าลูกหลานยังสนใจดูแลเขาอยู่
- สร้างกิจกรรมที่หลากหลายภายในครอบครัว
กิจกรรมภายในครอบครัวเป็นการสร้างความผูกพันธ์ สร้างบรรยากาศที่อบอุ่น ช่วยให้ทุกคนในบ้านมีสุขภาพจิตที่ดี และลดช่องว่างระหว่างวัย สามารถเลือกกิจกรรมง่ายๆ ที่สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วม อย่างการทานอาหารพร้อมกัน ถ้าต้องการความพิเศษขึ้นมาหน่อย ลองหาร้านอาหารที่บรรยากาศดีๆ เหมาะสำหรับครอบครัว หรือจะหากิจกรรมทำในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น จัดสวน ไปเที่ยว เดินเล่นสวนสาธารณะ ถ้าใครที่พอมีเวลาหน่อย อาจชวนผู้สูงวัยไปออกกำลังกายที่ได้ทั้งการดูแลสุขภาพและพบปะผู้คน หรือแนะนำให้ท่านเล่นโซเชียลมีเดีย ดูยูทูป ไปจนถึงแอปพลิเคชั่นสำหรับผู้สูงวัย แม้ว่าอยู่ไกลกัน ก็ต้องรู้จักใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ภายในครอบครัว “แม้จะห่างกาย แต่ใจไม่ห่างกัน”
หากสมาชิกภายในครอบครัว มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ทุกคนต่างช่วยเหลือประคับประคอง สนับสนุนซึ่งกันและกัน แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไป แต่ก็ไม่ทำให้สายสัมพันธ์ที่มีต่อกันนั้นเลือนหาย แน่นอนว่าทุกคนต่างมีชีวิต และภาระหน้าที่ของตนเอง แต่เมื่อถึงจุดที่ใครคนใดคนหนึ่งต้องการความช่วยเหลือ คนๆ นั้นจะไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะสังคมสูงวัยเป็นเรื่องของคนทุกวัย ผู้สูงอายุเป็นบุคคลที่มีคุณค่าและย่อมปรารถนาให้ผู้อื่นเห็นถึงความสำคัญเช่นกัน
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
