สารพัดวิธีในการลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะงดทานอาหารบางชนิดที่ว่ากันว่าจะไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม ออกกำลังกายอย่างหนัก หรืแม้แต่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่ก็ไม่สามารถลดน้ำหนักได้อย่างที่หวังไว้ ที่แย่ไปกว่านั้นคือ น้ำหนักตัวกลับเพิ่มขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้กินอะไรมาก กลายเป็นปัญหาใหญ่ทำให้หลายคนรู้สึกท้อใจหนักกว่าเดิม แม้จะใช้วิธีเดียวกันในการลดความอ้วน ก็ไม่ใช่ทุกคนที่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาน้ำหนักตัวนั้นมีความซับซ้อนต่างกันไปในแต่ละคน ต้องรู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้การลดน้ำหนักไม่ได้ผล มาดูกันว่ามีปัจจัยและพฤติกรรมใดบ้างที่ทำให้น้ำหนักตัวไม่ลดลง
5 ปัจจัยที่ทำให้น้ำหนักไม่ลดลง
- การเจ็บป่วยทางร่างกายบางอย่าง
หลายคนกำลังประสบปัญหาทานน้อย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่น้ำหนักตัวขึ้นเอาๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจเป็นเพราะว่าคุณกำลังป่วยอยู่หรือเปล่า หนึ่งในภาวะอ้วนที่มีสาเหตุจากการเจ็บป่วยทางร่างกายบางอย่าง อาจมาจากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ซึ่งทำหน้าที่ผลิตและหลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน เพื่อควบคุมกระบวนการใช้พลังงานและการเผาผลาญในร่างกายให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม หากภาวะที่ร่างกายมีระดับไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ทำให้การเผาผลาญพลังงานน้อยกว่าปกติ สารอาหารและพลังงานจึงสะสมในร่างกายมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น อ้วนขึ้น เนื่องจากเกิดการบวมน้ำ
- ประสิทธิภาพการทำงานของตับเสื่อมลง
หากทำทุกวิถีทางในการลดน้ำหนักแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล ควรตรวจเช็คสุขภาพตับดูว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากตับเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่ทำหน้าที่หลายอย่าง มีบทบาทสำคัญในกระบวนการเผาผลาญของร่างกาย ควบคุมการใช้สารอาหาร สะสมสารอาหารไว้ให้ร่างกายดึงออกมาใช้ในยามจำเป็นทำลายสารพิษต่างๆ และเป็นแหล่งสะสมวิตามินหลายชนิด เมื่อตับทำงานไม่ปกติ อาจส่งผลต่อการย่อยสลายไขมัน เนื่องจากตับเป็นอวัยวะที่ผลิตน้ำดี หากการย่อยไขมันและน้ำมันไม่ดีจะทำให้สารอาหารอื่นถูกย่อยได้ไม่สมบูรณ์ไปด้วย ในผู้ที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักเกิน อ้วนลงพุง ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด “ภาวะไขมันพอกตับ” ส่งผลให้เซลล์ตับถูกทำลาย อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- ขาดสารอาหารบางอย่าง
เทรนด์รักสุขภาพมาแรง การทานอาหารจึงเน้นไปที่ผักผลไม้เป็นหลัก แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่าต้องงดอาหารประเภทอื่นโดยสิ้นเชิง หลายคนที่กำลังลดน้ำหนัก กลับเลือกทานแต่ผักผลไม้ล้วนๆ โดยไม่แตะต้องเนื้อสัตว์ และอาหารประเภทอื่นๆ เลย ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่สมดุลหรือขาดสารอาหาร และอาจทำให้ร่างกายมีพลังงานไม่มากพอในการทำกิจกรรมแต่ละวัน คาร์โบไฮเดรตมีความจำเป็นต่อการช่วยเผาผลาญไขมันในร่างกายให้เป็นไปตามปกติ ในขณะที่โปรตีนทำหน้าที่ควบคุมปริมาณน้ำตาล ระดับพลังงานให้คงที่ในระยะเวลาที่ยาวนานยิ่งขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน เมื่อร่างกายขาดสารอาหารก็จะทำให้ระบบการทำงานเริ่มแปรปรวน เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อโรครุมเร้าได้ง่าย
- นอนน้อย นอนดึกเป็นประจำ
การนอนดึกติดต่อกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพในหลายๆ ด้าน หนึ่งในสาเหตุของการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และยังเพิ่มความเสี่ยงที่ทำให้อ้วนขึ้นได้ หลายคนที่ควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ นั่นอาจเป็นเพราะว่านอนไม่พอ การพักผ่อนอย่างเพียงพอส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเลปติน (Leptin) ได้เป็นปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำให้สมองระงับความอยากอาหาร กระตุ้นการเผาผลาญพลังงาน และมีส่วนช่วยให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งทำให้เกิดการเผาผลาญในขณะนอนหลับ หากนอนดึก นอนน้อย ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมา จึงเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากอาหาร และยังทำให้ร่างกายขาดโกรทฮอร์โมน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง และระบบเผาผลาญของร่างกายทำงานช้าลง
- ความเครียดเรื้อรัง
เมื่อความเครียดจู่โจม นอกจากจะส่งผลเสียต่อระบบต่างๆ ในร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการลกน้ำหนักเช่นกัน ในขณะที่ร่างกายตกอยู่ในสถานการณ์ที่ตึงเครียด จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ออกมา เพื่อต่อสู้กับความเครียดและฟื้นฟูร่างกาย ซึ่งจะลดลงเมื่อสภาวะตึงเครียดหายไป แต่หากมีความเครียดเรื้อรัง ก็จะส่งผลให้ระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลสูงขึ้น ร่างกายจึงต้องการพลังงานจำนวนมาก เพื่อปลุกสมองให้ตื่นตัว เราจึงรู้สึกหิวง่ายกว่าปกติ อยากทานอะไรที่หวานๆ มันๆ อย่างอาหารจำพวกแป้ง อาหารแคลอรี่สูง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้อ้วนขึ้นโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้ฮอร์โมนชนิดนี้ยังสั่งการตรงไปที่เซลล์ไขมัน เพื่อเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์ไขมัน และสะสมบริเวณพุงมากขึ้น ยิ่งเครียดยิ่งลดน้ำหนักไม่ได้ พอลดไม่ได้ก็ยิ่งเครียดหนักเข้าไปอีก ถ้าต้องการให้การลดน้ำหนักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ต้องหยุดวงจรนี้ซะ!
สิ่งที่น่ากังวลคือ เมื่อลดน้ำหนักไม่สำเร็จ หลายคนเริ่มสิ้นหวัง ถอดใจ จนถึงขั้นละเลยดูแลตัวเอง กินทุกอย่างโดยไม่ควบคุมอีกต่อไป นอกจากน้ำหนักไม่ลงแล้ว ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกด้วย การลดน้ำหนักต้องเริ่มจากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ควบคุมเรื่องอาหาร เน้นผักผลไม้มากขึ้น ลดแป้ง น้ำตาล และไขมันให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม สร้างวินัยในการกำลังกายควบคู่กันไปด้วย ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ต้องรีบร้อน ทำอย่างถูกวิธี เพื่อรูปร่างและสุขภาพที่ดีในระยะยาว
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ

[…] ของการลดความอ้วนนั่นคือ กินให้น้อยกว่าที่ใช้ […]
[…] ของการลดความอ้วนนั่นคือ กินให้น้อยกว่าที่ใช้ […]