สังคมไทยกำลังนับถอยหลังเพื่อเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์” จากข้อมูลของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย คาดการณ์ว่าในปี 2580 ประเทศไทยจะมีผู้สูงวัยคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศ หลายคนอาจวิตกว่าจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น จะเกิดปัญหาเรื่องสวัสดิการและการดูแลผู้สูงอายุหรือไม่ รวมถึงความสามารถในการดูแลตัวเองของผู้สูงวัย แต่ก็มีอีกหลายคนที่เตรียมพร้อมรับมือทั้งด้านการเงิน ร่างกายและจิตใจ แม้อายุมากขึ้นอาจทำให้ขีดความสามารถในการทำงานบางอย่างลดลง แต่ก็ยังมีอีกหลายๆ คุณสมบัติที่ทำให้คนวัยเกษียณสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหลายท่านยังคงทำงานอยู่ เราได้รวบรวม 4 ข้อดีของการทำงานหลังวัยเกษียณมาฝากกันค่ะ
4 ข้อดีของการทำงานหลังวัยเกษียณ
- มีรายได้ ไม่ต้องพึ่งพาใคร
สถานะทางการเงินที่ไม่ค่อยดี เงินไม่พอใช้ หากไม่วางแผนเก็บออมหลังเกษียณแล้ว ส่งผลให้การใช้ชีวิตบั้นปลายยามเกษียณต้องอยู่อย่างลำบาก มีคุณภาพชีวิตไม่ดี จะหวังพึ่งพาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นคงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนแน่นอน แถมยังมีค่าใช้จ่ายในเรื่องค่ารักษาพยาบาลที่ดูเหมือนว่าจะแพงขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย บางคนคาดหวังว่าลูกหลานจะเลี้ยงดูในยามชรา แต่บางครั้งชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเสมอไป แม้แต่ลูกหลานเองก็ยังมีรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ผู้สูงวัยที่สามารถหารายได้ในช่วงบั้นปลายชีวิต และต้องการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดนั้น นอกจากจะส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว ยังไม่เป็นภาระครอบครัว ช่วยลดภาวะพึ่งพิงจากผู้อื่นและสังคม บางท่านอยากหารายได้เสริม ช่วยให้มีเงินเก็บออมเพิ่มขึ้น สามารถนำไปต่อยอดลงทุนหรือใช้ทำอย่างอื่นได้ตามที่ต้องการได้
- มีพลังในการใช้ชีวิตและมีความกระฉับกระเฉงอยู่เสมอ
หากตัดเรื่องรายได้ออกไป หนึ่งในข้อดีของการทำงานแม้จะอายุมากขึ้นคือ เพื่อให้ตนเองยังคงมีพลังในการใช้ชีวิตในแต่ละวัน หลายท่านที่เคยทำงาน เลือกที่จะปลดเกษียณตัวเองด้วยการปล่อยให้ตัวเองว่างมากเกินไป มีกิจวัตรแบบเดิมๆ นานวันเข้าอาจจะรู้สึกเบื่อหน่ายได้ บางครั้งความสุขของคนวัยนี้อาจไม่ใช่การอยู่เฉยๆ เพราะผู้สูงวัยแต่ละท่านแตกต่างกัน การที่ได้กลับไปทำงานอีกครั้ง ได้ออกไปพบปะผู้คน แลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็น ทำให้ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ถือเป็นการสร้างความท้าทายไม่น้อย นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้สูงวัยที่ยังคงมีไฟในการทำงานอยู่ จึงมีบุคลิกที่ดูกระฉับกระเฉงคล่องแคล่ว ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี เพราะการได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน จะทำให้ดูทันสมัย มีชีวิตชีวากว่าคนวัยเดียวกันที่เอาแต่นั่งดูทีวีทั้งวัน ซึ่งต้องใช้สมองและความจำมากกว่าปกติ ทำให้เซลล์สมองและเซลล์ประสาทถูกกระตุ้นให้ทำงานมากขึ้นนั่นเอง
- เกิดความภาคภูมิใจ และมองเห็นคุณค่าตัวเอง
เมื่อผู้สูงวัยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ บทบาททางสังคมที่ลดลง มุมมองจากคนในครอบครัวหรือสังคม ต้องปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น และประสบภาวะพึ่งพิงหลายด้าน คิดว่าตัวเองเป็นภาระให้กับผู้อื่น ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจไม่น้อย อาจทำให้เผชิญความเสี่ยงต่อ “ภาวะซึมเศร้า” และแยกตัวจากสังคม ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ เกิดความรู้สึกไร้ค่า ว้าเหว่ ไร้ชีวิตชีวา ไม่อยากทำอะไร ขาดกำลังใจในการใช้ชีวิต ซึ่งการได้ทำงานหรือทำอะไรเพื่อผู้อื่น จึงเป็นการกระตุ้นให้ผู้สูงวัยมีไฟที่จะแสดงศักยภาพของตนเองที่ยังมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข เมื่อเกิดความพึงพอใจในชีวิต ก็จะมองเห็นถึงคุณค่าของตัวเอง มีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง และยังช่วยให้เกิดแรงจูงใจในการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
- ช่วยส่งเสริมให้มีวิถีชีวิตที่ดีต่อสุขภาพ
หลายท่านเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณกลับละเลยการดูแลตัวเอง เพราะคิดว่าไม่ได้ออกไปเจอใคร ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่แต่ในบ้าน อายุเยอะแล้วไม่จำเป็นต้องดูดีอยู่ตลอดเวลา บวกกับการที่ร่างกายไม่ได้ถูกใช้งานอย่างสม่ำเสมอ เคลื่อนไหวน้อยลง ไม่ใส่ใจเรื่องอาหารการกิน เมื่อละเลยบ่อยเข้าก็อาจกลายเป็นปัญหาสุขภาพตามมาได้เช่นกัน อย่าลืมว่าสุขภาพกายที่แย่ ย่อมส่งผลกระทบต่อสุขภาพใจ ที่อาจทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ซึ่งการที่ผู้สูงวัยมีกิจกรรมทำหรือได้กลับไปทำงานอีกครั้งจึงเป็นเหมือนการฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรง สังเกตว่าคนวัยเกษียณที่ยังคงทำงานอยู่จะดูแอคทีฟอยู่เสมอ แต่มีข้อควรระวังคือ งานที่ทำต้องไม่หนักจนเกินไปหรือกระทบต่อสุขภาพ ควรเลือกงานที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะเครียด เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข เมื่อผู้สูงอายุมีอาชีพ มีรายได้ ก็จะช่วยให้ดูแลตัวเองได้ดีตามไปด้วย
แม้จะชราแต่ก็อยากใช้ชีวิตแบบมีพลัง ตราบใดที่กายพร้อมใจพร้อม ผู้สูงวัยใช่ว่าต้องอยู่บ้านเฉยๆ เสมอไป คนรุ่นใหญ่หลังวัยเกษียณที่ยังคงทำงานอยู่ก็มีเหตุผลต่างกันไป เพราะความสุขและเป้าหมายในชีวิตแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน การพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด ย่อมก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองตามมา ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าเป็นภาระ การที่ผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ นอกจากมองเห็นคุณค่าในตัวเองแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนสังคมและเศรษฐกิจอีกด้วย
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
