สภาพร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมรับมือในการดูแลสุขภาพกายตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ย่อมส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอหรือมีปัญหาสุขภาพได้ง่าย การออกกำลังกาย ถือเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีเมื่ออายุเพิ่มขึ้น เพราะการออกกำลังกายในผู้สูงวัย สามารถชะลอความเสื่อมของระบบต่างๆ และช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ ซึ่งต้องทำอย่างเหมาะสม เนื่องจากเป็นวัยที่กล้ามเนื้ออ่อนแอกว่าวัยอื่น ก่อนที่จะเริ่มต้นเลือกประเภทของการออกกำลังกายนั้น มาดูกันว่า ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ มีอะไรบ้าง
5 ข้อควรระวังสำหรับการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ
- ควรตรวจสุขภาพก่อนออกกำลังกาย
แม้ใจพร้อม แต่ก็ต้องดูว่าสภาพร่างกายพร้อมหรือไม่ จากกิจวัตรประจำวันที่นั่งๆ นอนๆ อยู่แต่ในบ้าน จู่ๆ นึกอยากจะออกกำลังกายทันที รีบคว้ารองเท้าใส่เพื่อจะออกไปวิ่ง แบบนี้ก็คงไม่ใช่ อย่าลืมว่าระบบต่างๆ ในร่างกายมีการเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ หลายท่านขาดความรู้ที่ถูกต้องในการออกกำลังกาย โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคข้อเข่าเสื่อม โรคไต เป็นต้น จำเป็นจะต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เพื่อประเมินสุขภาพว่าสามารถออกกำลังกายได้หรือไม่ จะออกกำลังอย่างไร ระยะเวลาเท่าไหร่ หนักแค่ไหน ไม่เช่นนั้นอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้ และต้องออกกำลังกายภายใต้การแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ค่อยเป็นค่อยไป
ผู้สูงอายุที่เพิ่งเริ่มออกกำลังกาย ในช่วงแรกควรออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ ค่อยเป็นค่อยไป แม้ในผู้สูงวัยที่ประสบภาวะอ้วน ที่ต้องการออกกำลังกายเพื่อลดน้ำหนัก ก็ไม่ต้องรีบร้อนเช่นเดียวกัน อย่าลืมว่าวัยนี้การเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่วเหมือนคนหนุ่มสาว ให้ออกแบบเบาๆ ไปก่อนเพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ที่สำคัญควรอบอุ่นร่างกายก่อน และหลังการออกกำลังกายทุกครั้ง จากนั้นค่อยปรับระดับเมื่อร่างกายแข็งแรงขึ้น โดยเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่องทีละน้อย เพราะการออกกำลังอย่างหักโหมเกินไปหรือออกกำลังกายไม่ถูกวิธี อาจทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ซึ่งการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เอ็น ข้อต่อ ในผู้สูงวัยนั้นหนักหนาสาหัสกว่าวัยไหนๆ แถมยังหายช้าอีกด้วย กลายเป็นว่าแทนที่จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรง กลับต้องมารักษาอาการบาดเจ็บแทน
- เลือกประเภทของการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
การออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุมีหลายชนิด เช่น การเดิน การวิ่งช้าๆ การบริหารท่าต่างๆ การเต้น โยคะ เป็นต้น สำหรับท่านที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ไมรู้ว่าควรเริ่มจากตรงไหน ให้ลองเริ่มเบาๆ ขยับร่างกายด้วยการทำงานบ้านก่อน จากนั้นค่อยๆ ขยับมากขึ้นด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายตามคำแนะของแพทย์ ควรเริ่มจากประเภทที่ออกแรงน้อยไปมาก ค่อยๆ ทำ อย่าหักโหม พยายามขยับร่างกายให้ครบทุกส่วน อย่างเช่น การเดิน ก็ต้องแกว่งแขนและบริหารกล้ามเนื้อบริเวณช่วงบนของลำตัวบ้าง ผู้สูงวัยท่านใดที่เคลื่อนไหวเร็วไม่ได้ ก็อาจจะเพิ่มเวลาให้มากขึ้น ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ใช้แรงมากเกินไป ท่าออกกำลังกายที่ยาก หรือไม่แน่ใจว่าจะทำได้หรือไม่ โดยเฉพาะท่าที่ทำให้ต้องกลั้นหายใจ ในผู้สูงอายุบางรายอาจทำให้ความดันสูงขึ้นได้
- อย่าลืมสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่เกิดขึ้นขณะออกกำลังกาย
ในขณะที่ออกกำลังกาย ก็ต้องคอยสังเกตดูว่ามีอาการผิดปกติอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ แม้ว่าจะออกกำลังกายติดต่อกันมาสักระยะแล้วก็ตาม หากมีอาการหน้ามืด ใจสั่น หายใจขัดเป็นช่วงๆ คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ สายตาเริ่มพร่ามัว หน้ามือจะเป็นลม เริ่มรู้สึกว่ากำลังจะไม่ได้สติ ควรหยุดออกกำลังกายทันที อย่าฝืน! เป็นอันขาด ก่อนที่ร่างกายจะไม่ไหว จนเกิดอันตรายได้ ให้นั่งพักจนกว่าจะหายเหนื่อย หรือจนกว่าร่างกายจะเป็นปกติ แนะนำว่าควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อเช็คหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร และต้องแน่ใจว่าไม่มีปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงใดๆ ก่อนที่จะเริ่มกลับมาออกกำลังกายต่อไป
- คำนึงถึงสถานที่และเลือกใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายให้เหมาะสม
การออกกำลังกายตามสถานที่ต่างๆ เช่น ฟิตเนส สวนสาธารณะ สนามกีฬา ทำให้มีโอกาสได้พบปะคนรุ่นเดียวกัน ช่วยให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น แต่ก็ต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมที่อาจทำให้ร่างกายได้รับอันตราย เช่นกัน ควรเลือกช่วงเวลาเช้าหรือเย็น ไม่ควรออกกำลังกายในเวลาที่มีอากาศร้อนจัด รวมถึงการเลือกใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับประเภทและสถานที่ อย่างเช่นรองเท้าผ้าใบที่บางท่านอาจมองข้าม คิดว่าออกกำลังกายด้วยการเดิน สวมแค่รองเท้าแตะก็น่าจะเพียงพอแล้ว จริงๆ แล้วควรใช้รองเท้าให้เหมาะสม เพราะรองเท้าจะช่วยลดแรงกระแทก หากใส่รองเท้าไม่เหมาะสมอาจเสี่ยงต่อการลื่นหกล้มได้ หรือแม้แต่เสื้อผ้าก็ต้องเลือกที่สวมใส่สบาย ยืดหยุ่น ระบายความร้อนได้ดี
การออกกำลังกายสม่ำเสมอตามสภาพร่างกายของแต่ละคน เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้สูงวัยอย่างมาก ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเอง ทำท่าทางถูกต้องหรือไม่ จังหวะไหนควรหยุดพัก ไม่ต้องหักโหม ไม่ต้องเร่งรีบ ค่อยเป็นค่อยไป อย่าคาดหวังหรือกดดันตัวเองมากเกินไป ไม่จำเป็นต้องแข่งกับใคร เพราะเป้าหมายของแต่ละคนนั้นต่างกัน ขอแค่ทำให้เป็นกิจวัตรในชีวิตประจำวันก็พอ เมื่อสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจย่อมสดใสเบิกบานเช่นกัน สองสิ่งนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนในการใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
