การดูแลพ่อแม่ยามแก่ชราเป็นเรื่องที่ค่อนข้างหนักสำหรับหลายๆ คน แต่ละครอบครัวก็มีแนวทางการดูแลแตกต่างกันไป หากเป็นลูกคนเดียวก็อาจจะรับภาระหนักหน่อย ส่วนการที่มีพี่น้องหลายคน ใช่ว่าจะไม่เหนื่อย หากการดูแลพ่อแม่วัยชรากลายเป็นหน้าที่ของคนๆ เดียว ในบางสถานการณ์ต้องมีผู้เสียสละ แต่หากการเสียสละในครั้งนี้หมายถึง การละทิ้งช่วงชีวิตในวัยทำงาน แน่นอนว่าต้องตามมาด้วยสารพัดปัญหาในอนาคต เพราะเมื่อหมดภาระการดูแลคนแก่หรือคนป่วย คนดูแลจะกลายเป็น “ภาระ” เสียเอง นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครอบครัวต้องช่วยกันวางแผน เพราะการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะพ่อแม่ของเรา ไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว
เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว
การดูแลคนแก่ ไม่ใช่เรื่องง่าย
สภาพร่างกายที่เสื่อมลงตามวัย บวกกับการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจ ที่แม้แต่ผู้สูงวัยเองก็ยากที่จะรับมือ หน้าที่การดูแลผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่หลายคนคิด ผู้ดูแลต้องใจเย็นและทำความเข้าใจ เพื่อที่จะรับมือได้อย่างเหมาะสม ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น แค่การพูดคุยกับผู้สูงอายุที่มีการได้ยินไม่ค่อยชัด เราเองก็ต้องพูดเสียงดังขึ้น พูดย้ำหลายรอบ บางท่านมีอาการหลงๆ ลืมๆ ก็จะคอยถามคำถามเดิมอยู่ซ้ำๆ หรือเล่าแต่เรื่องเดิมๆ วนเวียนวันละหลายรอบ นี่จึงเป็นงานที่ต้องใช้แรงกายแรงใจอย่างมาก เป็นงานที่เหน็ดเหนื่อยและหนักไม่น้อยสำหรับผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนแก่ที่ป่วยช่วยเหลือตนเองแทบไม่ได้ ผู้ป่วยสูงวัยที่นอนติดเตียง ที่ทั้งยากและเหนื่อยยิ่งกว่า เพราะต้องอยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลาและดูแลอย่างใกล้ชิด มีรายละเอียดจุกจิกที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษหลายเรื่อง เช่นอาหาร ความสะอาด การใช้อุปกรณ์การแพทย์ รวมทั้งการให้ยา ถือเป็นความยากลำบากในการดูแล สร้างความเครียดและความกดดันไม่น้อยเลยทีเดียว
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เมื่อการดูแลพ่อแม่ในช่วงบั้นปลายชีวิต มาตกอยู่ที่คนเพียงคนเดียว
ไม่ว่าจะเป็นลูกคนเดียวหรือหนึ่งในบรรดาลูกทั้งหมดที่ต้องดูแลพ่อแม่วัยชรา ต่างก็เหนื่อยแทบทั้งนั้น แต่เราจะขอพูดถึงเฉพาะครอบครัวที่มีพี่น้อง เพราะเสียสละหรือเลือกที่จะผลักภาระให้คนใดคนหนึ่ง ย่อมมีผลกระทบตามมา ทั้งเวลาที่ต้องเสียไปและงานที่เพิ่มขึ้น สิ่งที่เห็นได้บ่อยคือ หากไม่ใช่ครอบครัวที่มีฐานะพอที่จะจ้างผู้อื่นมาช่วยดูแล ก็มักจะเลือกสมาชิกที่มีคุณสมบัติ โสด เงินเดือนน้อยที่สุด หรือสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมชายคาเดียวกันกับพ่อแม่รับภาระในการดูแล ซึ่งก็มีไม่น้อยที่ต้องตัดสินใจลาออกจากงาน โดยสมาชิกคนอื่นๆ จะเป็นคนรับผิดชอบค่าใช้จ่าย คำถามต่อจากนี้คือ เมื่อภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว คนๆ นั้นจะใช้ชีวิตต่ออย่างไร ความมั่นคงทางการเงินเป็นยังไง จะกลับไปหางานทำได้หรือไม่ เพราะการลาออกจากงานมานาน หากอยู่ในช่วงวัยกลางคนแล้วด้วยนั้น การจะสมัครงานใหม่คงไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนสมาชิกในบ้านคนอื่นๆ ที่เคยลงขันกันจ่ายค่ากินอยู่ให้ จะมารับผิดชอบกับชีวิต? เชื่อว่าประเด็นนี้คงต้องขบคิดกันต่อไป แล้ววงจรปัญหาเช่นนี้จะแก้ไขอย่างไร?
ภาวะเหนื่อยล้าทางกายและใจ เมื่อผู้ดูแลกำลังจะหมดไฟ
เป็นธรรมดาที่ผู้ดูแลจะรู้สึกเหน็ดเหนื่อยทั้งกายและใจ ในขณะที่ดูแลผู้สูงอายุ สุขภาพของผู้ดูแลก็อ่อนแอลงเรื่อยๆ เช่นกัน ทั้งอดนอน ทานอาหารไม่เป็นเวลา ขาดการออกกำลังกาย ไม่มีเวลาส่วนตัว แทบไม่ได้ออกไปพบปะผู้คน หากผู้ดูแลมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว สถานการณ์ยิ่งไปกันใหญ่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น หากคำพูดของสมาชิกคนอื่นหักหาญน้ำใจกัน อาจทำให้ผู้ดูแลเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดและเครียดหนักเข้าไปอีก จนไม่อยากรับภาระดูแลนี้แล้ว รู้สึกว่าต้องมารับผิดชอบทุกสิ่งทุกอย่างอยู่เพียงคนเดียว เบื่อหน่ายไปหมด ชีวิตประจำวันยุ่งเหยิงวุ่นวาย สุขภาพร่างกายเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่มีความสุข จมอยู่กับความเครียดเป็นเวลานาน นี่เป็นสัญญาณเตือนว่า ผู้ดูแลกำลังต้องการความช่วยเหลือ
ถึงเวลาแล้วที่สมาชิกในครอบครัวต้องยื่นมือเข้ามาช่วย
ภารกิจการดูแลพ่อแม่วัยชราไม่ใช่เรื่องของใครเพียงคนเดียว สมาชิกในครอบครัวต้องร่วมมือกัน ต้องอาศัยการเสียสละจากทุกฝ่าย ถ้าใครไม่ออกแรง ก็ต้องออกเงิน! แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเพียงอย่างเดียวแล้ว จะไม่รับผิดชอบดูแลเรื่องอื่นเลย อย่าลืมว่าทุกคนต่างก็ต้องมีชีวิตเป็นของตัวเอง เวลาที่เกิดผลกระทบ มันไม่ใช่แค่คนเดียวเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ อย่างการที่ผู้ดูแลเองก็มีครอบครัวที่ต้องดูแลรับผิดชอบ ก็ต้องคุยกับทางครอบครัวตัวเองว่าสถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไง อธิบายเหตุผล ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพวกเขา ส่วนพี่น้องคนอื่นๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ต้องช่วยกันเป็นกำลังใจ ดูแลซึ่งกันและกัน เริ่มต้นตั้งแต่การพูดคุย วางแผนว่าจะจัดการยังไง เพื่อที่จะให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อม แบ่งหน้าที่ จัดตารางเวลาให้ชัดเจน ให้ผู้ดูแลหลักได้มีเวลาพักผ่อน ใช้ชีวิตส่วนตัวบ้าง อีกส่วนที่เป็นประเด็นสำคัญคือ ค่าใช้จ่าย ถ้าไม่วางแผนให้ดี อาจทำให้สถานะทางการเงินเข้าขั้นวิกฤต จำเป็นที่จะต้องหาทางออกอื่น มีแผนสำรองไว้ จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็ค่อนข้างที่จะพูดยาก คงต้องย้อนกลับไปเรื่องของการวางแผนทางการเงินก่อนหน้านี้ บางครอบครัวพ่อแม่มีความพร้อมทางการเงิน บางครอบครัวลูกเป็นหัวเรือสำคัญในการหารายได้ หรือบางทีเราคิดว่าเตรียมเพียงพอแล้ว แต่พอถึงเวลากลับไม่เป็นไปตามคาดคิด แต่ถึงอย่างไรการเตรียมความพร้อม ย่อมดีกว่าไม่เตรียมอะไรเลย
การดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว เป็นงานที่ต้องใช้พลังกายและใจอย่างมาก ต้องอาศัยความเข้าใจ ความร่วมมือจากสมาชิกครอบครัวทุกคน ในอีกมุมหนึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่เราเองก็ถูกคาดหวังจากสังคมไทยไม่น้อย ในฐานะคนนอกก็ไม่อาจไปตัดสินใครได้ แต่หากเป็นคนในที่รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด อย่างน้อยก็ต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันบ้าง คงจะเป็นการใจร้ายเกินไป หากต้องมีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลังคนเดียว
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
