“เป็นมนุษย์เงินเดือน ช่างเหนื่อยเสียจริง” ไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไร ต่างก็ต้องเจอกับความเหนื่อยล้า ปัญหา และอุปสรรคที่เราต้องจัดการเพื่อผ่านพ้นไปให้ได้ บ่อยครั้งที่นำมาซึ่งความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งความเครียดนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เราทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ต้นเหตุของความเครียดนั้น บางเรื่องเราสามารถควบคุมได้ แต่บางเรื่องก็ควบคุมไม่ได้ เพื่อจัดการกับความเหนื่อยล้าทางใจที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากการทำงาน เรามีวิธีคลายเครียดจากการทำงาน มาฝากกันค่ะ
5 วิธีคลายเครียดจากการทำงาน
- “หยุด” กิจกรรมตรงหน้า หาเวลาพักเสียบ้าง
หากความตึงเครียดในเวลางานกำลังเล่นงานคุณ จนความคิดสับสนวุ่นวายไปหมด ไม่รู้ว่าจะเริ่มแก้ปัญหาจากตรงไหนก่อน แทนที่จะจะนั่งอารมณ์คุกรุ่นอยู่ที่โต๊ะ จมอยู่กับความเครียด ให้คุณลอง “หยุด” คิดสักพัก แล้วหันไปทำอย่างอื่นแทน เพื่อเป็นการเอาตัวเองออกมาจากความเครียด เช่น ลุกไปเข้าห้องน้ำ ออกไปเดินเล่นสักครู่ หาเครื่องดื่มที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย อย่างชาสมุนไพรหรือแค่น้ำเปล่าเย็นๆ สักแก้วก็ดีไม่น้อย ถ้าไม่สะดวกที่จะลุกออกจากโต๊ะทำงาน ให้นั่งหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ อาจจะหลับตาลง ลองเพ่งไปที่ต้นไม้เล็กๆ บนโต๊ะทำงาน หรือมองออกไปนอกหน้าต่าง เพื่อช่วยให้สมองปลอดโปร่ง สามารถกลับมาคิดแก้ไขปัญหา รับมือกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น ในช่วงเวลาที่พัก ก็ควร “พัก” จริงๆ ไม่ใช่หยิบมือถือขึ้นมาเล่นโซเชียลมีเดีย
- ทำกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียด
หลังเลิกงาน พอกลับถึงบ้านก็แทบจะหมดแรง จนอยากจะล้มตัวลงนอนทันที แต่เพื่อเป็นการสลัดเอาความเครียดออกจากความคิดในขณะนั้น ลองหากิจกรรมง่ายๆ ใช้เวลาไม่มาก ไม่กระทบเวลาในการพักผ่อน เพิ่มเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวันของคุณ ถ้าคุณกำลังจะบอกว่า “เหนื่อยมาทั้งวัน แล้วยังต้องหาอะไรทำหลังเลิกงานอีกหรอ” แต่รู้หรือไม่ว่า รูปแบบการใช้ชีวิตที่วนเวียนซ้ำซาก นอกจากจะน่าเบื่อแล้ว อาจส่งผลให้เครียดหนักมากกว่าเดิมอีกด้วย นั่นเป็นเพราะเราไม่มีวิธีจัดการกับความเครียดอย่างเหมาะสมนั่นเอง การเลือกทำกิจกรรมที่ชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น ทำงานอดิเรก เล่นกับสัตว์เลี้ยง อ่านหนังสือ ทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว นอกจากช่วยให้รู้สึกเพลิดเพลินแล้ว ยังช่วยลดระดับความเครียดได้ดีอีกด้วย ในขณะที่ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรม จะช่วยให้เราลืมนึกถึงเรื่องอื่นๆ ชั่วขณะ เพราะเรากำลังโฟกัสอยู่ที่กับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้านั่นเอง
- ออกกำลังกาย คลายเครียด
เหตุผลที่เราแยกหัวข้อการออกกำลังกาย ออกจากการทำกิจกรรมอื่นๆ นั่นเป็นเพราะ เราอยากให้คุณเห็นว่า การออกกำลังกายมีข้อดีมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ ไม่ใช่แค่เรื่องของสุขภาพที่แข็งแรง ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางอย่างเท่านั้น แต่สามารถช่วยบรรเทาความเครียด รู้สึกสดชื่น ลดความเหนื่อยล้าทางกายและใจได้เป็นอย่างดี เพราะในขณะที่ออกกำลังกาย ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งต้องเลือกการกำลังกายอย่างถูกวิธี อย่างการเล่นโยคะหรือพิลาทิส ที่ช่วยลดระดับคอร์ติซอล (Cortisol) หรือ “ฮอร์โมนแห่งความเครียด” หากออกกำลังกายเป็นประจำ จะสามารถลดความเครียดในระยะยาว และมีผลให้จิตใจสงบขึ้นได้
- จัดสรรเวลาในชีวิตประจำวัน
การบริหารจัดการเวลา เป็นหนึ่งในทักษะที่วัยทำงานควรเรียนรู้ เพราะในแต่ละวันมีกิจกรรมให้ทำมากมาย คนที่สามารถจัดสรรเวลาการทำงาน และการใช้ชีวิตส่วนตัวให้ดีนั้น นอกจากเป็นการใช้เวลาในแต่ละวันได้อย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับที่ช่วยจัดการกับความเครียดได้ดีเช่นกัน ต่อให้ทุ่มเทกับการทำงานมากแค่ไหน แต่หากละเลยการดูแลสุขภาพกายและใจของตัวเอง ย่อมส่งผลเสียในระยะยาวอย่างแน่นอน เพราะร่างกายย่อมเสื่อมสภาพลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น เมื่อหมดเวลางาน ก็ควรที่จะหยุดคิดเรื่องงาน อย่าเก็บความเครียดกลับไปที่บ้าน บางคนต้องแบ่งเวลาให้กับครอบครัว บางคนมีอาชีพเสริมหลังเลิกงาน ถ้าจัดสรรเวลาไม่เหมาะสม นอกจากจะไม่มีเวลาขจัดความเครียดแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเครียดเข้าไปอีก
- ลองปรับมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
การหมกหมุ่น จมอยู่กับความคิดใดความคิดหนึ่งนานๆ คิดซ้ำไป ซ้ำมา นอกจากจะเป็นการผลาญเวลาไปกับสิ่งที่ไม่มีประโยชน์แล้ว อาจทำให้เกิดอาการเครียดโดยไม่รู้ตัว และยังลดประสิทธิภาพในการแก้ปัญหา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเวลาที่เรารู้สึกเครียดกับงาน เราจึงไม่สามารถจัดการกับปัญหาในขณะนั้นได้ทันที ยิ่งคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก แม้จะเป็นแค่ปัญหาเล็กๆ ก็ตาม หากตกอยู่ในภาวะตึงเครียดขณะทำงานจนรู้สึกว่ายากที่จะควบคุม ลองตั้งสติ ทำใจให้สงบ เอาตัวเองออกจากความเครียดด้วยการลองปรับมุมมองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น มองข้ามเรื่องเล็กน้อย ยอมรับข้อบกพร่องที่เกิดขึ้น เพราะคนเราผิดพลาดกันได้ อย่าจมอยู่กับความรู้สึกผิดนานหากเราเข้าใจสถานการณ์ ก็จะช่วยให้หายเครียดได้เร็วขึ้น
ในโลกของการทำงานย่อมเจอกับปัญหาทั้งเรื่องงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน และอื่นๆ ที่ส่งผลให้รู้สึกเครียดได้ แต่การจมอยู่กับความวิตกกังวลมากๆ เกิดเป็นความเครียดสะสม ก็จะกลายเป็นสาเหตุของความทุกข์ใจได้เช่นกัน หากจมอยู่กับความเครียดในที่ทำงานมาสักระยะหนึ่ง แล้วพบว่างานที่ทำอยู่นั้น มองไม่เห็นความสุข พยายามหาทางแก้ไขแล้วแต่ไม่ดีขึ้นเลย นี่อาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องเริ่มมองหางานใหม่ หรือโอกาสใหม่ๆ เสียที
ติดตามข่าวสารต่างๆ ผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ที่นี่ค่ะ
