มองโลกหลังการมาถึงของวัคซีนโควิด19: เมื่อวัคซีนคือความหวังที่โลกจะฟื้นตัวกลับมาอีกครั้ง

วัคซีนโควิด19

จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของมนุษยชาติเราพบว่าในอดีตที่ผ่านมามีการระบาดของโรคติดต่อครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตมนุษย์เกิดขึ้นมาหลายครั้งครับ โดยประมาณการณ์กันเอาไว้ว่าในทุก ๆ100ปีจะเกิดการระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่ส่งผลรุนแรงเป็นวงกว้าง และครั้งล่าสุดก่อนการระบาดของโรคโควิด 19 ก็คือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 ซึ่งทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั่วโลกกว่า 500 ล้านคนและมีผู้เสียชีวิตถึง 50 ล้านคน การระบาดในครั้งนั้นกินระยะเวลาถึง 4 ปีจึงจะสงบลง การรับมือการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนแตกต่างจากการรับมือโควิด 19 ตรงที่วิทยาการทางการแพทย์สมัยนั้นทำได้เพียงรักษาอาการแบบประคับประคองและรอเวลาให้โรคระบาดสงบลงไปเองในขณะที่การรับมือของโควิด 19 ที่นอกจากการรักษาแบบประคองอาการด้วยวิทยาการสมัยใหม่จึงทำให้เราวิจัยและผลิตวัคซีนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวครับ บทความนี้เราจะมาดูกันว่าเมื่อตัวความหวังอย่างวัคซีนโควิด19มาถึง โลกของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง

รู้จักกับชนิดของวัคซีนโควิด19จากทั่วโลก

เพราะวัคซีนคือความหวังของมวลมนุษยชาติ ทั่วโลกจึงทุ่มเทให้กับการวิจัยและพัฒนาวัคซีนกันอย่างเร่งด่วนครับ เราอาจได้ยินชื่อวัคซีนโควิดกันหลายชื่อไม่ว่าจะเป็นไฟเซอร์ แอสตร้าเซเนก้า ซิโนแวคหรือชื่ออื่น ๆ ชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นชื่อของเครื่องหมายการค้าครับ วัคซีนโควิด19 จริง ๆแล้วมีทั้งหมด 4 ประเภทตามลักษณะการผลิตซึ่งมีดังต่อไปนี้

  • 1. mRNA vaccines เป็นวัคซีนที่ใช้สารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะทำให้ร่างกายสร้างโปรตีนที่สามารถกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา แต่มีข้อเสียคือจะต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำระดับติดลบ20-70องศาเท่านั้น เพราะสารพันธุกรรมที่ว่านี้สลายตัวง่ายในอุณหภูมิสูงครับ

2. Viral vector vaccines เป็นการฝากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด เข้าไปในสารพันธุกรรมของไวรัสชนิดอื่นที่ไม่ก่อให้เกิดโรค เพื่อพาเข้ามาในร่างกาย ทำให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมา

3. Protein-based vaccines จะใช้โปรตีนบางส่วนของเชื้อไวรัสฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส

4. Inactivated vaccines ผลิตโดยการใช้ไวรัสที่ถูกทำให้ตายแล้ว เมื่อฉีดเข้าไปในร่างกาย จะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสขึ้นมาครับ วิธีนี้จะเป็นหลักการเดียวกันกับการผลิตวัคซีนในอดีตนั่นเอง

แล้วในประเทศไทยใช้วัคซีนในรูปแบบใด

สำหรับในประเทศไทย ณ ขณะนี้เราจะใช้วัคซีนอยู่ 2 รูปแบบครับนั่นคือ Viral vector vaccine ของแอสตร้าเซเนกร้า กับ Inactivated vaccine ของซิโนแวคครับ ซึ่งทั้ง 2 ชนิดมีงานวิจัยรองรับแล้วว่าให้ผลในการป้องกันโควิดอย่างได้ผลในระดับหนึ่งทั้งสามารถยับยั้งการติดการติดเชื้อรวมถึงบรรเทาความรุนแรงของโรคได้ดีครับ และในอนาคตก็อาจมีการนำเข้าวัคซีนจากยี่ห้ออื่นเข้ามาฉีดให้กับคนไทยเพื่อป้องกันการระบาดครับ

ได้ยินว่าวัคซีนมีผลข้างเคียง แล้วเราควรจะฉีดวัคซีนดีไหม

ยังไม่ทันที่วัคซีนโควิดจะเข้ามายังเมืองไทยก็เริ่มมีกระแสพูดถึงผลข้างเคียงจากวัคซีนกันมากขึ้นเพราะโดยปกติแล้วการผลิตวัคซีนจนถึงระดับพร้อมใช้งานจริงจะต้องมีการวิจัย พัฒนา เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างกันประมาณ 2-3 ปีครับ แต่เพราะความจำเป็นเร่งด่วนของสถานการณ์การระบาดของโควิดในขณะนี้ที่ต้องเร่งผลิตวัคซีนออกมาเพื่อควบคุมการระบาดทำให้การเก็บข้อมูลจากการทดลองอาจใช้เวลาน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น จึงเป็นสาเหตุของความกังวลใจสำหรับคนกลุ่มหนึ่งครับที่ไม่อยากจะฉีดวัคซีนเพราะกลัวผลข้างเคียงของวัคซีนนี้ แต่กระนั้นในหลายประเทศที่เริ่มฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศกว่า 200 ล้านโดสทั่วโลกก็ยังไม่ปรากฎผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตครับ โดยจากข่าวที่ออกมาว่ามีการเสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนนั้น เมื่อทำการสืบสวนอย่างจริงจังกลับพบว่าสาเหตุการเสียชีวิตไม่ได้เกิดขึ้นจากตัววัคซีนเลย แต่เป็นผลจากสาเหตุอื่นทั้งโรคประจำตัวเป็นต้น จึงทำให้มั่นใจได้ว่าวัคซีนมีความปลอดภัยระดับหนึ่งครับ และที่สำคัญในเรื่องของผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนไม่ว่าจะเป็นวัคซีนใดในโลกก็สามารถเกิดผลข้างเคียงได้ทั้งนั้นไม่แต่เฉพาะวัคซีนโควิดครับ

แม้จะมีวัคซีนแล้วแต่ใช่ว่าปัญหาจะจบในเร็ววัน

อุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดที่ทำให้แม้วัคซีนจะถูกผลิตคิดค้นออกมาแล้วก็ไม่ทำให้ปัญหาจบในเร็ววันนั่นก็คือ “จำนวนการผลิตวัคซีน จำนวนประชากรโลก การกระจายวัคซีนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และความสามารถในการฉีดวัคซีนในแต่ละวัน” ข้อจำกัดทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ทำให้ปัญหาการระบาดยังไม่จบเร็วอย่างที่เราคิดครับ อย่างในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศแรก ๆที่มีการฉีดวัคซีนโควิดซึ่งมีประชากรประมาณ 70 ล้านคน เขาสามารถฉีดวัคซีนได้ในจำนวน 2 ล้านครั้งต่อสัปดาห์ก็ยังต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะครอบคลุมประชากรทั้งหมด แต่กระนั้นหลังการเริ่มต้นฉีดวัคซีนอย่างจริงจังก็ทำให้ปริมาณของผู้ติดเชื้อรายใหม่และอัตราการเสียชีวิตในประเทศอังกฤษลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญครับ ดังนั้นแม้เราไม่อาจจบปัญหาในเร็ววันแต่สถานการณ์การระบาดจะค่อย ๆดีขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามปริมาณวัคซีนที่ถูกฉีดเพิ่มขึ้นในแต่ละวันครับ

สถานการณ์โลกหลังวัคซีนโควิดจะเป็นเช่นไร คำถามที่ทุกคนอยากรู้

เมื่อมีวัคซีนหลายคนจึงเริ่มตั้งคำถามครับว่าแล้วสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นเช่นไร ก็คงต้องบอกครับว่าแม้จะมีวัคซีนแต่ความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิดก็ยังคงมีอยู่ยังคงมีอยู่ แต่อาการแสดงจะน้อยลง ความรุนแรงของการเข้าโรงพยาบาลและความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตก็จะน้อยลงเช่นกันและท้ายที่สุดแม้โควิดจะไม่ได้หายไปจากโลกนี้เลยแต่ก็อาจจะกลายเป็นโรคตามฤดูกาลโรคหนึ่งที่มีอัตราการเสียชีวิตลดลงเหมือนกับหลายโรคร้ายแรงในอดีตครับโดยอาจใช้เวลาประมาณ 2 ปีนับจากนี้โรคโควิด19จึงจะสงบลงอย่างสิ้นเชิงครับ

แต่สิ่งหนึ่งที่จะมีผลอย่างชัดเจนหลังการมาของวัคซีนก็คือการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลกซึ่งไม่อาจปฏิเสธเลยว่าโควิด19ได้สร้างรอยแผลขนาดใหญ่มากเอาไว้ให้ระบบเศรษฐกิจทั่วทุกมุมโลกจากการที่โลกในปัจจุบันไร้พรมแดนทำให้ทุกปัญหาเชื่อมต่อถึงกันหมดครับ และเมื่อสถานการณ์การระบาดดีขึ้นทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจก็จะค่อย ๆดีขึ้นตามลำดับครับ

นอกจากนี้การมาถึงโลกออนไลน์ก็จะยิ่งชัดเจนมากยิ่งขึ้นจากพฤติกรรมต่าง ๆที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโควิดที่ผ่านมา เราอาจเห็นการถูก disrupt ของบางสาขาอาชีพที่สามารถทดแทนด้วยระบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น

วัฒนธรรมการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็จะยังคงเป็นแนวคิดที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและการป้องกันโรคทางเดินหายใจอื่น ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนเอเชียครับ จริง ๆแล้วค่านิยมการสวมใส่หน้ากากอนามัยมีมานับ 10 ปีแล้วสำหรับคนเอเชียนับตั้งแต่การระบาดของโรคซาร์และไข้หวัดนกคนเอเชียก็เริ่มที่จะสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกนอกบ้านกันอยู่แล้ว แต่หลังการระบาดของโรคโควิด 19 หน้ากากอนามัยจะยังคงเป็นไอเทมสำคัญที่มีความจำเป็นสำหรับผู้คนอยู่เช่นเดิมครับ เพราะนั่นคือการแสดงออกถึงการป้องกันตัวเองจากทั้งเชื้อโรค มลพิษรวมถึงเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมครับ

นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด19 ไม่ว่าจะมีหรือยังไม่มีวัคซีน โลกใบนี้ก็ไม่อาจกลับไปเป็นเช่นเดิมได้อีกต่อไป สิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ว่าเราจะสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร เพราะอย่างที่บอกครับว่า “หลังการระบาดในครั้งนี้ โลกใบนี้จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” เมื่อเป็นเช่นนี้คุณจึงควรตั้งคำถามกับตัวเองได้แล้วครับว่า “ตัวคุณเองพร้อมที่จะรับความเปลี่ยนแปลงนี้แล้วหรือยัง”

ติดตามเนื้อหาดี ๆทางช่องทางโซเชี่ยลได้ที่นี่ครับ

วัคซีนโควิด19

ทิ้งคำตอบไว้

Please enter your comment!
Please enter your name here